การตรวจหลังคลอดเป็นขั้นตอนสำคัญที่คุณแม่ทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะหลังจากผ่านช่วงเวลาอันยาวนานของการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ร่างกายของคุณแม่จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง การตรวจหลังคลอดจึงเป็นโอกาสสำคัญในการประเมินสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น
ตรวจหลังคลอด คืออะไร ?
การตรวจหลังคลอด คือการที่คุณแม่กลับมาพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพหลังจากการคลอดบุตร โดยปกติแล้วทางโรงพยาบาลจะนัดให้คุณแม่มาตรวจในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่การคลอดมีความผิดปกติ หรือมีปัญหา แพทย์อาจนัดมาตรวจก่อน 4 สัปดาห์ได้
ตรวจหลังคลอด ห้ามเกินกี่เดือน ?
โดยทั่วไป การตรวจหลังคลอดควรทำภายใน 4-6 สัปดาห์หลังคลอด หรือ 1 เดือนครึ่งหลังคลอด เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังปรับตัวกลับสู่ภาวะปกติ การตรวจในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินการฟื้นตัวของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่โดยทั่วไปสูติแพทย์มักแนะนำให้มารับการตรวจหลังคลอดภายใน 6 สัปดาห์ และถือว่าเป็นจุดที่สิ้นสุดของระยะหลังคลอด ซึ่งคุณแม่ไม่ควรจะละเลยเป็นอันขาด
ตรวจหลังคลอดตรวจอะไรบ้าง ?
การตรวจหลังคลอดเป็นขั้นตอนสำคัญที่คุณแม่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะเป็นการตรวจสุขภาพเพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายของคุณแม่ฟื้นตัวเป็นปกติหลังการคลอด ทั้งยังเป็นการตรวจเพื่อหาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น สำหรับการตรวจหลังคลอดโดยทั่วไปจะมีรายละเอียดดังนี้
- ซักประวัติ : สอบถามอาการผิดปกติ การปัสสาวะ การขับถ่าย การมีประจำเดือนและการตกไข่หลังคลอด การมีเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิด การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และจิตใจ
- ตรวจร่างกายทั่วไป : วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก และตรวจสุขภาพโดยรวม
- ตรวจภายใน : ประเมินการหดรัดตัวของมดลูก ตรวจแผลฝีเย็บ (ถ้ามี) และตรวจมะเร็งปากมดลูก
- ตรวจเต้านม : ดูการไหลของน้ำนมและสภาพของหัวนม
- ตรวจระดับฮอร์โมน : โดยเฉพาะในรายที่มีประวัติภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
- ตรวจเลือด : เพื่อประเมินภาวะโลหิตจาง
- ตรวจปัสสาวะ : เพื่อตรวจหาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- ประเมินสภาพจิตใจ : สอบถามเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกหลังคลอด
ไม่ได้ตรวจหลังคลอด อันตรายไหม ?
การไม่ไปตรวจหลังคลอดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เช่น
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา
- ปัญหาเกี่ยวกับการให้นมบุตร
- การฟื้นตัวของร่างกายที่ช้ากว่าปกติ
ดังนั้น แม้ว่าคุณแม่จะรู้สึกสบายดี ก็ควรไปตรวจตามนัดเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ตรวจหลังคลอด จำเป็นไหม ?
การตรวจหลังคลอดมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่ทุกคน การไปพบแพทย์ตามนัดหมายจะช่วยให้คุณแม่มั่นใจได้ว่าทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยแข็งแรงสมบูรณ์
- ช่วยประเมินการฟื้นตัวของร่างกาย ทำให้รู้ว่าอวัยวะต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้กลับคืนสู่สภาพปกติแล้วหรือยัง
- ตรวจหาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังคลอดได้อย่างทันท่วงที
- ให้คำแนะนำเรื่องการคุมกำเนิดที่เหมาะสมหลังคลอด
- ประเมินอารมณ์และความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
- ช่วยแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการให้นมบุตร
อาการหลังคลอดที่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
หลังจากการคลอดบุตร ร่างกายของคุณแม่จะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะมีอาการปวดเมื่อย หรือรู้สึกไม่สบายบ้าง แต่หากคุณแม่พบอาการผิดปกติต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
- มีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส หนาวสั่น หรืออาการปวดศีรษะ
- มีก้อนที่เต้านมหรือเต้านมบวมแดง
- มีอาการปวดท้องมาก ปวดท้องบิด โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากอาหาร
- มีอาการเจ็บหรือแสบขัดเวลาถ่ายปัสสาวะ
- ตกขาวมีกลิ่นเหม็น น้ำคาวปลามีสีแดงตลอดภายใน 15 วันหลังคลอด (โดยปกติแล้วหลังคลอด 3-4 วันแรก น้ำคาวปลาจะออกมาเป็นเลือดสด ๆ แต่หลังจากนี้อีก 10-14 วันจะเป็นน้ำปนเลือด มีสีน้ำตาลดำ แล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นน้ำสีขาวออกเหลืองจนหมดไปภายใน 4 สัปดาห์)
- มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ เช่น ภายใน 1 ชั่วโมงชุ่มผ้าอนามัย 1 แผ่น และเลือดที่ออกมามีลักษณะเป็นก้อน
- แผลฝีเย็บบวมแดงมากขึ้นจนมีอาการปวดถ่วงไปถึงทวารหนัก
- แผลฝีเย็บมีหนองหรือมีเลือดไหล
นอกจากนี้ การพาลูกไปพบกุมารแพทย์เป็นครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 1 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป และทำการฉีดวัคซีนกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ พร้อมกับขอคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลลูกน้อย เช่น การให้นม การอาบน้ำ และการนอนหลับ ก็จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่อุ่นใจในการเลี้ยงดูลูกน้อยให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น
บทความโดย แพทย์ ศรมน ทรงวีรธรรม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร V Fertility Center
Hotline : 082-903-2035
Line : @vfccenter bit.ly/3HVkyCO
อ่านบทความสุขภาพ : https://www.v-ivf.com/article/
ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชวิทยาและเวชศาตร์การเจริญพันธ์ุ
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.