การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโภชนาการ การพักผ่อน หรือการเดินทาง สำหรับคุณแม่ที่มีไลฟ์สไตล์ที่ต้องเดินทางบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดความกังวลใจ เพราะกลัวว่าทารกในครรภ์อาจมีพัฒนาการที่ไม่สมวัย จนทำให้เจริญเติบโตช้ากว่าปกติที่ควรจะเป็น แต่ทั้งนี้ มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลพัฒต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ เช่น อาหารที่คุณแม่รับประทาน การไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงโรคติดต่อ แต่สำหรับผู้ที่กังวลว่าคนท้องเดินทางไกลได้ไหม และจะส่งผลต่อลูกในครรภ์หรือไม่ ควรมาทำความเข้าใจถึงเรื่องนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อนำไปดูแลตนเองและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อยในครรภ์
ผลกระทบจากการเดินทางไกลในช่วงตั้งครรภ์
มีงานวิจัยให้ข้อมูลว่า ผู้หญิงที่มีการตั้งครรภ์และต้องเดินทางด้วยรถยนต์ไปกลับเพื่อทำงาน พบว่าระยะทางทุก 10 กิโลเมตรของความห่างจากบ้านและที่ทำงาน จะส่งผลต่อน้ำหนักของทารกที่ลดลงถึง 14 เปอร์เซ็นต์ และหากต้องเดินทางมากกว่าวันละ 80 กิโลเมตร หรือถ้าเทียบเป็นนาที คือประมาณ 78 นาทีต่อวัน อาจเผชิญกับผลกระทบดังนี้
- น้ำหนักทารกต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งเป็นผลกระทบจากความเครียดเรื้อรังที่คุณแม่ได้รับระหว่างการเดินทางไกล จึงส่งผลให้ไม่ได้กินอาหารที่มีประโยชน์มากเพียงพอ ทำให้ทารกได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน
- พัฒนาการของทารกช้าลง การเดินทางไกลบ่อยอาจทำให้คุณแม่เหนื่อยล้า ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้
- ปัญหาการไหลเวียนโลหิต การนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดปัญหาเลือดไหลเวียนไม่สะดวก เพิ่มความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับการเดินทางไกลในช่วงตั้งครรภ์
คนท้องเดินทางไกลได้ไหม ?
การเดินทางไกลในช่วงตั้งครรภ์สามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความสะดวกสบายของคุณแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่สอง (4-6 เดือน) ซึ่งเป็นช่วงที่คุณแม่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดและร่างกายปรับตัวได้แล้ว อย่างไรก็ตาม จึงควรปฏิบัติดังนี้
- เตรียมตัวล่วงหน้า หากต้องเดินทางไกล ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพ
- สวมเสื้อผ้าสบาย ๆ โดยเลือกเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่น เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก
- ดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำในระหว่างการเดินทาง
ท้องอ่อน ๆ นั่งรถไกล ได้ไหม ?
สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วงแรก (1-3 เดือน) การเดินทางไกลสามารถทำได้ แต่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มปรับตัวและอาจเสี่ยงต่อการแท้ง โดยมีข้อแนะนำ ดังต่อไปนี้
- พักเบรกทุก 1-2 ชั่วโมง หากต้องเดินทางนาน ควรมีเวลาหยุดพักเพื่อยืดเส้นยืดสาย
- เลือกตำแหน่งที่นั่งปลอดภัย หากเดินทางด้วยรถยนต์ ควรนั่งในตำแหน่งที่เข็มขัดนิรภัยไม่กดทับบริเวณหน้าท้อง
- พกของว่าง โดยเฉพาะอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการติดตัวเอาไว้ เพื่อป้องกันการวิงเวียน หรืออาการแพ้ท้อง
คนท้องนั่งรถนานได้ไหม ?
การนั่งรถเป็นเวลานานหลายชั่วโมง โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดความเมื่อยล้า และอาจส่งผลต่อสุขภาพของคนท้องได้ในทุกระยะการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จึงมีคำแนะนำสำหรับคุณแม่ที่ต้องเดินทางนาน ๆ ดังนี้
- ขยับตัวบ่อย ๆ โดยพยายามเปลี่ยนท่าทาง หรือหมุนข้อเท้าเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
- ใช้หมอนรองหลัง เพื่อช่วยลดอาการปวดหลังและเพิ่มความสบาย
- วางแผนเส้นทาง หลีกเลี่ยงการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนเพื่อลดความเครียด
ท้อง 8 เดือนขึ้นเครื่องบิน ได้ไหม ?
ในช่วงตั้งครรภ์ 8 เดือน สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ แต่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดบางประการ ดังนี้
- ข้อกำหนดของสายการบิน สายการบินส่วนใหญ่อนุญาตให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ไม่เกิน 36 สัปดาห์เดินทางได้ แต่คุณแม่อาจต้องมีใบรับรองแพทย์
- ภาวะสุขภาพ หากคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือครรภ์แฝด ควรหลีกเลี่ยงการขึ้นเครื่องบิน
- เคล็ดลับการเดินทาง ให้เลือกที่นั่งริมทางเดินเพื่อความสะดวก สวมใส่ถุงน่องกระชับกล้ามเนื้อ (Compression Stockings) เพื่อลดความเสี่ยงของลิ่มเลือดอุดตัน รวมถึงดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และลุกเดินเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
การเดินทางไกลในช่วงตั้งครรภ์ สามารถทำได้หากเตรียมตัวอย่างเหมาะสมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้อง สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่จำเป็นต้องเดินทางระยะไกล ไม่ควรปล่อยให้ความเครียดเข้ามาครอบงำจนกระทั่งส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ แต่ควรพยายามกินอาหารอย่างเพียงพอให้ครบทั้ง 5 หมู่ และจัดสรรเวลาไปพบคุณหมอตามนัดทุกครั้ง เพื่อความสมบูรณ์แข็งแรงของทารกที่จะคลอดออกมา แต่หากคุณแม่ยังเป็นกังวลว่าตนเองกำลังท้องอ่อน ๆ และจะสามารถนั่งรถไกลได้ไหมหรือหากต้องนั่งรถนาน ๆ จะเกิดปัญหาหรือไม่ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการดูแลสุขภาพของตนเองและลูกน้อยในครรภ์ เพราะการวางแผนอย่างรอบคอบและใส่ใจ จะช่วยให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัยเสมอ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดปรึกษาแพทย์ได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline : 082-903-2035
Line Official : @vfccenter
อ่านบทความสุขภาพ : https://www.v-ivf.com/article/
ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชวิทยาและเวชศาตร์การเจริญพันธ์ุ
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.