เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

คนท้องเป็นพยาธิอันตรายไหม ? เรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรสังเกต

พยาธิในร่างกาย

การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่สำคัญและละเอียดอ่อน เพราะสุขภาพของคุณแม่มีผลโดยตรงต่อทารกในครรภ์ ซึ่งหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการตั้งครรภ์คือ ภาวะคนท้องมีพยาธิ รวมถึงการเป็นพยาธิตัวตืดขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อย วันนี้จะพามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการมีพยาธิตอนตั้งครรภ์ ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และวิธีการรักษาที่ปลอดภัย

 

พยาธิ คืออะไร ?

พยาธิ คือ ปรสิตที่มีขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในร่างกายของคนหรือสัตว์ สามารถดูดซับสารอาหารจากร่างกายจนทำให้เกิดโรคพยาธิและส่งผลกระทบต่าง ๆ ต่อร่างกาย โดยพยาธิสามารถแบ่งออกได้หลายชนิด เช่น พยาธิตัวตืด พยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน

โดยทั่วไป พยาธิจะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางปาก โดยการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนไข่พยาธิ หรือผ่านทางผิวหนัง อีกทั้งพยาธิบางชนิดยังสามารถปะปนมาในอากาศ แล้วเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจเข้าไป คุณแม่ตั้งครรภ์จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการของตนเองในระหว่างตั้งครรภ์ว่าเป็นพยาธิหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยในครรภ์และสุขภาพของคุณแม่เอง 

วงจรชีวิตของพยาธิ

เมื่อไข่พยาธิเข้าสู่ร่างกาย จะฟักตัวและเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน จากนั้นจะเข้าไปแย่งสารอาหาร ทำให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ร่างกายขาดสารอาหาร ซูบผอมลง หากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายส่วนอื่น ๆ ได้

 

คนท้องเป็นพยาธิอันตรายไหม ?

ในกรณีที่คนท้องมีพยาธิ ไมว่าจะเป็นพยาธิตัวตืดขณะตั้งครรภ์ หรือพยาธิชนิดอื่น ๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ทั้งต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ซึ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นมีดังนี้

  • เกิดภาวะโลหิตจาง : พยาธิอาจดูดซับสารอาหารสำคัญ เช่น ธาตุเหล็ก ทำให้คุณแม่เกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก
  • น้ำหนักแรกคลอดต่ำ : ทารกอาจมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าปกติเนื่องจากการขาดสารอาหาร
  • การติดเชื้อในทารก : พยาธิบางชนิดสามารถผ่านรกไปสู่ทารกได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์

 

อาการมีพยาธิตอนตั้งครรภ์

การสังเกตอาการของการติดเชื้อพยาธิในระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาการที่ควรสังเกตมีดังนี้

หิวบ่อยกว่าปกติ

แม้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้นตามปกติ แต่หากรู้สึกหิวบ่อยหรือมากเกินไป อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อพยาธิ

คันยิบ ๆ บริเวณรอบทวารหนัก

หากคุณแม่รู้สึกมีอาการคันยิบ ๆ ที่บริเวณรอบทวารหนักหรือบริเวณช่องคลอด โดยไม่ได้รับประทานอาหารที่อาจก่อให้เกิดอาการคัน เช่น อาหารหมักดอง ปลาร้า หรือหน่อไม้ อาจเป็นสัญญาณของพยาธิที่อยู่ในร่างกาย

มีรอยช้ำบนผิวหนัง

การปรากฏของรอยช้ำแดงบนผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณต้นขาลงไปถึงเท้า อาจเป็นอาการของการติดเชื้อพยาธิปากขอ โดยควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากการกระทบกระแทก

น้ำหนักลด

หากมีน้ำหนักลดลงอย่างผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์อาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคพยาธิในคนท้อง เพราะโดยปกติแล้ว คุณแม่ควรมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าในระหว่างตั้งครรภ์จะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดหัว หรือปวดท้อง ก็ไม่ได้ส่งผลให้น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สงสัยว่าอาจมีพยาธิตอนตั้งครรภ์ 

พยาธิปะปนมากับอุจจาระ

หากสังเกตเห็นพยาธิปะปนมากับอุจจาระ อาจบ่งบอกได้ถึงพยาธิได้มีการฟักตัว ทำให้มั่นใจได้ว่าคุณแม่กำลังเป็นโรคพยาธิในคนท้อง

 

การใช้ยาถ่ายพยาธิในหญิงตั้งครรภ์

วิธีการรักษาภาวะมีพยาธิตอนตั้งครรภ์ ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ การใช้ยาถ่ายพยาธิควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น โดยมีแนวทางการรักษามีดังนี้

  1. การวินิจฉัย : แพทย์จะทำการตรวจอุจจาระเพื่อยืนยันการติดเชื้อพยาธิและระบุชนิดของพยาธิ
  2. การเลือกยา : ยาถ่ายพยาธิที่ใช้จะขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิและอายุครรภ์ โดยควรอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาก่อนรับประทานยาทุกครั้งและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  
  3. การติดตามผล : หลังการรักษา แพทย์จะติดตามผลอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินประสิทธิภาพของการรักษาและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
  4. การป้องกัน : นอกจากการรักษา การป้องกันการติดเชื้อซ้ำก็เป็นสิ่งสำคัญ คุณแม่ควรระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยในการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตประจำวัน

 

การป้องกันการติดเชื้อพยาธิในระหว่างตั้งครรภ์

การป้องกันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงปัญหาคนท้องมีพยาธิ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรปฏิบัติดังนี้

  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ต้องทำให้สุกอย่างทั่วถึง
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • ดื่มน้ำสะอาดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดินหรือทรายโดยตรง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อาจมีการปนเปื้อนของพยาธิ
  • รักษาความสะอาดของบ้านและสิ่งแวดล้อมรอบตัว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะเนื้อหมูและเนื้อวัว ซึ่งอาจเป็นแหล่งของพยาธิตัวตืด

การดูแลสุขอนามัยและการระมัดระวังในการเลือกรับประทานอาหาร จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อพยาธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น คุณแม่ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันและหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

ภาวะคนท้องมีพยาธิ อาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ การหมั่นสังเกตอาการและคอยป้องกันตนเองอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ แต่หากสงสัยว่าอาจมีการติดเชื้อพยาธิ ควรปรึกษาแพทย์โดยทันทีเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม รวมถึงการใช้ยาถ่ายพยาธิควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของทั้งคุณแม่และลูกน้อย 

 

บทความโดย แพทย์วนากานต์ สิงหเสนา

ปรึกษาเกี่ยวกับการมีบุตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ 

VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร 

Hotline : 082-903-2035

Line : @vfccenter bit.ly/3HVkyCO 

อ่านบทความสุขภาพ : https://www.v-ivf.com/article/

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.