สาเหตุของโรคหัดเยอรมัน
โรคหัดเยอรมัน มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า “รูเบลลา” (RubellaRubella Virus) ซึ่งแพร่กระจายได้ผ่านการไอหรือจาม รวมถึงการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ จะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดและระบบน้ำเหลือง กระทั่งทำให้เกิดการติดเชื้อทั่วร่างกาย
อาการของโรคหัดเยอรมัน
ผู้ป่วยโรคหัดเยอรมันจะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป ซึ่งมักจะมีอาการดังนี้
- มีไข้ต่ำ ๆ
- ปวดศีรษะ
- น้ำมูกไหล
- อ่อนเพลีย
หลังจากเป็นไข้ 1-2 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ออกผื่น ซึ่งแสดงว่าเชื้อหัดเยอรมันเริ่มแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ โดยเกิดเป็นผื่นแดงบริเวณใบหน้า แล้วกระจายไปตามลำคอ ตัว แขน ขา และจะคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตเล็กน้อยบริเวณหลังใบหู ข้างท้ายทอยกดแล้วเจ็บ
อันตรายของโรคหัดเยอรมันสำหรับคนท้อง
โรคหัดเยอรมันเป็นภัยคุกคามร้ายแรงสำหรับคนท้อง โดยหากติดเชื้อและมีอาการป่วยเป็นหัดเยอรมัน ในช่วงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์แรก จะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีปัญหาความผิดปกติหลายประการ รวมถึงอาจทำให้เกิดความพิการอย่างรุนแรง เช่น ความผิดปกติทางระบบประสาท การสูญเสียการได้ยิน และการเกิดต้อกระจก นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดปัญหาหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) ซึ่งส่งผลให้มีความผิดปกติทางพัฒนาการและปัญหาสุขภาพระยะยาว ดังนั้นคุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงให้ห่างจากผู้ป่วย หรือผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นหัดเยอรมัน และต้องดูแลสุขอนามัยของตนเองอย่างดีที่สุด
การวินิจฉัยโรคหัดเยอรมัน
การวินิจฉัยโรคหัดเยอรมัน สามารถทำได้ ดังนี้
- ตรวจวินิจฉัยโดยทั่วไป เช่น ตรวจสอบผื่นแดงที่เกิดขึ้นตามร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองโต และอาการไข้
- ตรวจเลือดเพื่อยืนยันการติดเชื้อ โดยเป็นการตรวจวัดระดับแอนติบอดีต่อไวรัส Rubella ในเลือด หากพบว่ามีแอนติบอดีชนิด IgM ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นในระยะเริ่มแรก แสดงว่าผู้ป่วยติดเชื้อหัดเยอรมัน
การป้องกันโรคหัดเยอรมัน
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคหัดเยอรมันคือการฉีดวัคซีน MMR (Measles, Mumps, and Rubella) ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน โดยวัคซีนนี้ควรได้รับตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก และสามารถฉีดกระตุ้นในผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการฉีดหรือไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอ
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน มีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ที่วางแผนการตั้งครรภ์ สำหรับผู้หญิงหลังจากได้รับวัคซีนแล้วต้องฉีดยาคุมกำเนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 1-3 เดือน เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันก่อน ถึงจะมีความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ต่อไป
การตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมัน
การตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดเยอรมันทำได้โดยการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับแอนติบอดีที่สร้างขึ้นมาตอบสนองต่อการติดเชื้อหรือการฉีดวัคซีน ซึ่งการตรวจจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ
- ตรวจเลือดเพื่อหาสารภูมิต้านทานชนิดเอ็ม (IgM Antibody) หากตรวจพบจะแสดงว่าเคยติดเชื้อไวรัส หรืออาจจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันมาก่อน
- ตรวจเลือดเพื่อหาสารภูมิต้านทานชนิดจี (IgG Antibody) หากตรวจพบจะแสดงว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดเยอรมัน ไม่ว่าจะเกิดจากการเคยติดเชื้อมาก่อนหรือได้รับวัคซีนป้องกันโรคแล้ว
โรคหัดเยอรมันเป็นโรคติดต่อที่อันตรายโดยเฉพาะสำหรับคนท้อง การป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์ และการระมัดระวังไม่ให้สัมผัสกับผู้ป่วย หากสงสัยว่าติดเชื้อ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์อาจจะเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าปกติ ดังนั้นจึงควรดูแลตัวเองเป็นพิเศษและเข้าพบแพทย์ตามการนัดหมายทุกครั้ง เพื่อสุขภาพของคุณแม่และความปลอดภัยของทารกในครรภ์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดปรึกษาแพทย์ได้ที่
ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร V Fertility Center
Hotline : 082-903-2035
Line : @vfertilitycenter(https://lin.ee/riKcYHl)
อ่านบทความสุขภาพ : https://www.v-ivf.com/article/
บทความโดย แพทย์วนากานต์ สิงหเสนา
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.