แอลกอฮอล์เป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ในหลายระดับ แม้แต่ในผู้ใหญ่ที่ร่างกายพัฒนาเต็มที่แล้ว การดื่มแอลกอฮอล์ก็สามารถก่อให้เกิดผลเสียต่อตับ สมอง และระบบประสาท ยิ่งไปกว่านั้น ในเด็กและทารกที่ระบบร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่ แอลกอฮอล์จะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงกว่าหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารกที่กำลังพัฒนาอยู่ในครรภ์
คนท้องกินแอลกอฮอล์ได้ไหม ? : แอลกอฮอล์ส่งผลต่อทารกในครรภ์อย่างไร ?
โดยปกติแล้ว ไม่ว่าคุณแม่จะดื่มหรือรับประทานอะไร อาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้นทารกก็จะได้รับด้วย ดังนั้นคุณแม่จึงควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ และอาหารเสริมเพื่อบำรุงสุขภาพและพัฒนาการของลูกในครรภ์
แต่หากคุณแม่ดื่มกินเหล้าตอนท้อง ลูกในครรภ์ก็จะได้รับแอลกอฮอล์เข้าไปด้วยโดยตรงผ่านทางรก และระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของลูกจะสูงพอ ๆ กับคุณแม่ แต่ด้วยความที่เป็นทารกในครรภ์ทำให้ไม่สามารถขับสารพิษจากแอลกอฮอล์ได้เท่ากับแม่จึงส่งผลเสียต่อทารกแน่นอน
อันตรายต่อระบบร่างกายของทารก
เมื่อคุณแม่กินเหล้าตอนท้อง แอลกอฮอล์จะเข้าสู่ร่างกายของทารก และด้วยความที่ระบบร่างกายยังไม่พัฒนาเต็มที่ ทำให้ไม่สามารถขับสารพิษจากแอลกอฮอล์ได้เท่ากับผู้ใหญ่ จึงส่งผลให้แอลกอฮอล์ตกค้างในร่างกายทารกนาน และก่อให้เกิดอันตรายมากกว่า โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะต่าง ๆ การดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการสร้างอวัยวะที่ไม่สมบูรณ์ อวัยวะผิดรูป หรือส่งผลต่อความพิการได้
ผลกระทบต่อทารกในครรภ์จากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณต่าง ๆ
การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อย (1-2 แก้ว)
แม้จะเป็นการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่น้อย แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อทารกได้ เพราะแอลกอฮอล์จะผ่านรกไปสู่ทารกโดยตรง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาต่าง ๆ เช่น
- การแท้งบุตร
- คลอดก่อนกำหนด
- น้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์
การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณปานกลาง (2-4 แก้วต่อวัน)
การดื่มในปริมาณนี้เป็นประจำจะเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาพัฒนาการต่าง ๆ ได้แก่
- ปัญหาด้านการเรียนรู้
- ความบกพร่องทางภาษาและการพูด
- ภาวะสมาธิสั้น
- ปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์
การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก (มากกว่า 6 แก้วต่อวัน)
การดื่มในปริมาณสูงจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของผลกระทบรุนแรง ได้แก่
- ความพิการแต่กำเนิด
- พัฒนาการทางร่างกายและสมองล่าช้าอย่างชัดเจน
- ความผิดปกติของใบหน้าและอวัยวะ
- ความบกพร่องของระบบหัวใจและหลอดเลือด
- ปัญหาพฤติกรรมรุนแรง
ไม่ว่าจะเป็นการกินเหล้าตอนท้องในปริมาณใดก็ตาม ล้วนมีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ทั้งสิ้น วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือการงดดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิงตลอดการตั้งครรภ์
จะเป็นอย่างไรหากดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ?
ในกรณีที่คุณแม่ดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่รู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ แม้จะไม่ได้ตั้งใจ แต่แอลกอฮอล์ที่เข้าสู่ร่างกายย่อมส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ควรหยุดดื่มทันทีและเริ่มดูแลตัวเองเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของลูกน้อย
เครื่องดื่มที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
แทนที่จะดื่มแอลกอฮอล์ คุณแม่ควรเลือกดื่มเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะน้ำเปล่าที่ควรดื่มอย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน นอกจากนี้ ยังสามารถดื่มน้ำผักและผลไม้สดที่ไม่หวานจัด ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ หรือจะเป็นนมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีสารอาหารจำเป็นครบถ้วน โดยเฉพาะแคลเซียมและธาตุเหล็กที่ช่วยในการพัฒนาการของทารก
ส่วนเครื่องดื่มอย่างน้ำอัดลม โซดา ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีรสหวาน สามารถดื่มได้แต่ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพในระยะยาว
คำถามที่พบบ่อย
Q: คนท้องกินเบียร์ได้ไหม ?
A: ไม่ว่าจะเป็นเบียร์แค่แก้วเดียวหรือหนึ่งเดียว ก็มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่สามารถส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้ เพื่อความปลอดภัยของทารก จึงควรงดดื่มเบียร์โดยเด็ดขาด
Q: ดื่มเบียร์ตอนท้องอ่อน ๆ จะเป็นอันตรายไหม ?
A: การดื่มเบียร์ในช่วงท้องอ่อนหรือไตรมาสแรกมีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นช่วงที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะสำคัญ แอลกอฮอล์อาจส่งผลต่อการพัฒนาของอวัยวะและเพิ่มความเสี่ยงของความพิการตั้งแต่กำเนิด
Q: เบียร์ 0% ปลอดภัยสำหรับคนท้องหรือไม่ ?
A: แม้จะเป็นเบียร์ที่ระบุว่า 0% แต่ในความเป็นจริงยังคงมีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณ 0.5% ซึ่งก็สามารถส่งผลกระทบต่อทารกได้ จึงไม่แนะนำให้ดื่มในระหว่างตั้งครรภ์
Q: ถ้าดื่มเบียร์ตอนไม่รู้ว่าท้อง จะเป็นอันตรายไหม ?
A: แม้จะไม่ได้ตั้งใจ แต่แอลกอฮอล์ที่เข้าสู่ร่างกายก็อาจส่งผลต่อทารกได้ เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ควรหยุดดื่มทันทีและปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลที่เหมาะสม
Q: ดื่มเบียร์ตอนท้องแก่ใกล้คลอดได้ไหม ?
A: ไม่ควรดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใด ๆ แม้จะใกล้คลอด เพราะแอลกอฮอล์ยังสามารถส่งผลต่อทารกและอาจเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดได้
บทความโดยแพทย์ศรมน ทรงวีรธรรม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดปรึกษาแพทย์ได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline : 082-903-2035
Line : @vfccenter
อ่านบทความสุขภาพ : https://www.v-ivf.com/article/
ข้อมูลอ้างอิง:
ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชวิทยาและเวชศาตร์การเจริญพันธ์ุ
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.