สำหรับคุณแม่ที่กำลังวางแผนจะตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้ทารกเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรง โดยหนึ่งในภาวะที่คุณแม่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษก็คือ “ภาวะปากมดลูกสั้น” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อีกทั้งภาวะนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์อีกด้วย ดังนั้น คุณแม่จึงควรทำความเข้าใจถึงอันตรายของภาวะนี้ รวมถึงวิธีการป้องกันและการรักษา เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่นปลอดภัย
ทำความรู้จักกับภาวะปากมดลูกสั้น
ภาวะปากมดลูกสั้น (Cervical Insufficiency) เป็นภาวะที่ปากมดลูกของคุณแม่ตั้งครรภ์มีความยาวน้อยกว่าปกติ โดยทั่วไปแล้ว ปากมดลูกจะมีความยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร แต่สำหรับผู้ที่ปากมดลูกสั้นกว่า 2.5 เซนติเมตร จะนับว่าเข้าข่ายภาวะปากมดลูกสั้น ส่งผลต่อความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปากมดลูกไม่สามารถคงสภาพได้ตามปกติในช่วงตั้งครรภ์เต็มวัย
การตรวจพบภาวะปากมดลูกสั้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน หรือมีภาวะที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของปากมดลูก
ปากมดลูกสั้นเกิดจากอะไร ?
ส่วนสาเหตุของภาวะปากมดลูกสั้นเกิดจากอะไรนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น
- การคลอดก่อนกำหนดในครั้งก่อน: คุณแม่ที่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะปากมดลูกสั้นในครั้งต่อไป
- การผ่าตัดหรือการรักษาปากมดลูกในอดีต: การผ่าตัดปากมดลูก เช่น การทำหัตถการ LEEP (Loop Electrosurgical Excision Procedure) อาจทำให้ปากมดลูกมีความยาวสั้นลง
- ปัจจัยด้านพันธุกรรม: คุณแม่บางคนอาจมีพันธุกรรมที่ทำให้ปากมดลูกมีความยาวสั้นกว่าปกติโดยธรรมชาติ
- การตั้งครรภ์แฝด: การตั้งครรภ์แฝดจะทำให้ปากมดลูกต้องรองรับแรงดันมากขึ้น ส่งผลให้ปากมดลูกสั้นลง
- การแท้งบุตรในไตรมาสที่สอง: ภาวะนี้อาจสัมพันธ์กับการแท้งบุตรในช่วงปลายของไตรมาสที่สอง หรือการคลอดก่อนกำหนดในอดีต
วิธีการตรวจวัดความยาวปากมดลูก
การตรวจวัดความยาวของปากมดลูกสามารถทำได้ด้วยการอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด ซึ่งเป็นวิธีที่แม่นยำและรวดเร็ว โดยเป็นการตรวจเพื่อประเมินความยาวของปากมดลูกในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ (ช่วงอายุครรภ์ประมาณ 18-24 สัปดาห์) สำหรับคุณแม่ที่มีประวัติเกี่ยวกับภาวะปากมดลูกสั้นหรือคลอดก่อนกำหนด แพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจเร็วขึ้นเพื่อตรวจหาความเสี่ยงตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์
ผลกระทบของภาวะปากมดลูกสั้น
ภาวะปากมดลูกสั้นอาจทำให้ปากมดลูกเปิดก่อนเวลาอันควร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการคลอดก่อนกำหนด หากไม่ได้รับการดูแลและรักษาอย่างเหมาะสม ภาวะนี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์และคุณแม่ได้ในหลายรูปแบบ
- คลอดก่อนกำหนด: เป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด เนื่องจากการที่ทารกเกิดก่อนเวลาเต็มวัยย่อมส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและระบบต่าง ๆ ของทารก
- การแท้งบุตร: ในบางกรณีที่ปากมดลูกไม่สามารถปิดรักษาตัวทารกในครรภ์ได้ อาจนำไปสู่การแท้งบุตรในช่วงไตรมาสที่สอง
- ปัญหาทางสุขภาพของทารกในครรภ์: ทารกที่เกิดก่อนกำหนดอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึงพัฒนาการที่อาจช้ากว่าปกติ และปัญหาอื่น ๆ
วิธีรักษาภาวะปากมดลูกสั้น
หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะปากมดลูกสั้น แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาและการดูแลที่เหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด โดยวิธีรักษาภาวะปากมดลูกสั้นมีหลากหลายวิธี ดังนี้
- การเย็บปากมดลูก (Cervical Cerclage): เป็นการผ่าตัดเล็กที่ทำการเย็บปิดปากมดลูกเพื่อให้ปากมดลูกคงสภาพไม่เปิดก่อนเวลา การทำหัตถการด้วยวิธีนี้ มักใช้ในกรณีที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดหรือพบว่าปากมดลูกสั้นเกินไป
- การใช้ฮอร์โมน Progesterone: การใช้ฮอร์โมนประเภทนี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดได้ โดยการฉีดหรือใช้ยาสอดช่องคลอด
- การพักผ่อนและลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงดันในมดลูก: แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่พักผ่อนเพิ่มขึ้นและลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความดันในมดลูก เช่น การยืนหรือเดินนาน ๆ
- การใช้วงแหวนพยุงปากมดลูก (Cervical Pessary): เป็นอุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปเพื่อช่วยพยุงและรักษาสภาพของปากมดลูก
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร พร้อมดูแลเพื่อการตั้งครรภ์ที่ราบรื่น
หากคุณแม่ท่านใดกำลังกังวลกับภาวะปากมดลูกสั้นว่าจะส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ VCF ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร พร้อมให้คำปรึกษาและการดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยการตรวจวินิจฉัยที่ละเอียดและการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เรามีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานระดับสากลเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้ประสบความสำเร็จ พร้อมสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบได้อย่างที่ตั้งใจ!
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline : 082-903-2035
Line : @vfccenter bit.ly/3HVkyCO
อ่านบทความสุขภาพ : v-ivf.com/article/
บทความโดย แพทย์ศรมน ทรงวีรธรรม
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.