เมื่อพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับการเป็นหมันหลายคนอาจสงสัยว่า ผู้ชายเป็นหมัน หรือคนเป็นหมันจะมีอสุจิไหม และชายที่เป็นหมันจะมีอสุจิอย่างไร ? ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ผู้ชายที่เป็นหมันยังสามารถมีเพศสัมพันธ์และหลั่งน้ำเชื้อได้ตามปกติ เพียงแต่ว่าในน้ำเชื้ออาจจะไม่มีตัวอสุจิ หรือมีจำนวนน้อยเกินกว่าจะทำให้เกิดการปฏิสนธิ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถสร้างอสุจิได้ หรือมีปัญหาที่ท่อนำอสุจิ ทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถเคลื่อนตัวออกมาได้ ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย
ผู้ชายเป็นหมันเกิดจากอะไร ?
หนึ่งในคำถามแรกที่หลายคนสงสัย คือการเป็นหมันเกิดจากอะไร ซึ่งภาวะเป็นหมันในผู้ชายสามารถเกิดได้จากหลากสาเหตุ ตั้งแต่ปัจจัยทางกายภาพไปจนถึงปัจจัยทางพันธุกรรม แต่สาเหตุที่พบบ่อยมีดังนี้
อายุมากขึ้น
ถึงแม้ว่าผู้ชายจะสามารถผลิตอสุจิได้ตลอดชีวิต แต่เมื่ออายุมากขึ้นจะส่งผลให้คุณภาพของอสุจิลดลง ทั้งในแง่ของจำนวน ความเร็ว และรูปร่างที่ผิดปกติ โดยเฉพาะหลังอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งการเคลื่อนไหวที่ลดลงของอสุจิ จะทำให้เกิดโอกาสการปฏิสนธิน้อยลง
น้ำหนักตัวที่มากขึ้น
ภาวะอ้วน หรือน้ำหนักตัวที่มากเกินไปอาจทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ซึ่งส่งผลเสียต่อการสร้างอสุจิ อีกทั้งยังอาจรบกวนสมดุลของฮอร์โมนเพศชาย โดยเฉพาะการลดระดับของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
พฤติกรรมการใช้ชีวิต
ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวันสามารถส่งผลเสียต่อภาวะเจริญพันธุ์ เช่น
- การสูบบุหรี่ เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่จะทำลายดีเอ็นเอของอสุจิ ทำให้เกิดความผิดปกติ อีกทั้งยังลดการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะเพศ
- การดื่มแอลกอฮอล์ โดยแอลกอฮอล์จะเข้าไปลดจำนวนอสุจิ รวมถึงทำให้การเคลื่อนไหวของอสุจิช้าลงและอาจนำไปสู่ปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
- การดื่มคาเฟอีน โดยเฉพาะการดื่มในปริมาณมาก ซึ่งอาจส่งผลต่อจำนวนอสุจิ
ความผิดปกติของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์
โดยเป็นปัญหาทางกายภาพที่มองไม่เห็น ซึ่งสามารถส่งผลต่อการผลิต หรือการส่งผ่านอสุจิได้ เช่น
- ภาวะหลอดเลือดขอด (Varicocele) ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดดำที่อัณฑะขยายตัวผิดปกติ ทำให้อุณหภูมิของอัณฑะสูงขึ้น ส่งผลเสียต่อการสร้างอสุจิ
- การอุดตันของท่อนำอสุจิ ที่อาจเกิดจากการติดเชื้อ การบาดเจ็บ หรือความผิดปกติแต่กำเนิด
- อัณฑะไม่ลงถุง (Cryptorchidism) ซึ่งเป็นภาวะที่อัณฑะไม่เคลื่อนลงมาในถุงอัณฑะตั้งแต่แรกเกิด
การได้รับบาดเจ็บที่อวัยวะเพศอย่างรุนแรง
เช่น อุบัติเหตุ หรือการผ่าตัด อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หลอดน้ำเชื้ออุดตัน หรือความผิดปกติของอัณฑะ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะมีบุตรยากได้
ปัญหาทางด้านจิตใจ
สภาวะทางจิตใจ ล้วนส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ความเครียดที่ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงขึ้น ซึ่งรบกวนการผลิตฮอร์โมนเพศ หรือความวิตกกังวลที่อาจนำไปสู่ปัญหาการหลั่งเร็วหรือการไม่สามารถหลั่งน้ำอสุจิได้
ผู้ชายเป็นหมัน มีลักษณะอย่างไร ?
ตามปกติแล้วผู้ชายที่เป็นหมันจะไม่มีลักษณะเฉพาะที่บ่งชี้ แต่อาจมีสัญญาณบ่งชี้จากปริมาณน้ำเชื้อที่ออกมาน้อยกว่าปกติ หรือรู้สึกว่าน้ำเชื้อมีความเหลวเจือจางผิดปกติ แม้ว่าจะไม่ได้มีกิจกรรมทางเพศบ่อยนัก โดยมีปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกถึงคุณภาพของอสุจิ ดังนี้
- จำนวนอสุจิ หากมีจำนวนน้อยเกินไป อาจส่งผลต่อโอกาสในการปฏิสนธิ
- ความเคลื่อนไหวของอสุจิ อสุจิต้องมีความสามารถในการเคลื่อนที่เพื่อว่ายไปยังไข่ หากอสุจิเคลื่อนที่ช้าหรือไม่เคลื่อนที่เลย จะส่งผลต่อการปฏิสนธิ
- รูปร่างของอสุจิ อสุจิที่มีรูปร่างผิดปกติ เช่น หัวเล็ก หัวใหญ่ หางบิดเบี้ยว จะมีโอกาสในการปฏิสนธิน้อยลง
- ปริมาณของน้ำเชื้อ ปริมาณน้ำเชื้อที่น้อยเกินไป อาจบ่งบอกถึงปัญหาในการผลิตอสุจิ
- ความหนืดของน้ำเชื้อ น้ำเชื้อที่หนืดเกินไป อาจทำให้การเคลื่อนที่ของอสุจิเป็นไปได้ยาก
วิธีเช็กภาวะหมันชาย
ภาวะหมันในผู้ชายสามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีการวิเคราะห์คุณภาพอสุจิ ซึ่งเป็นวิธีที่แม่นยำและเป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ โดยมีขั้นตอนและรายละเอียดดังนี้
การเก็บตัวอย่างอสุจิ
- ผู้ชายจะต้องงดการหลั่งน้ำอสุจิ 2-7 วันก่อนวันตรวจ เพื่อให้ได้ปริมาณและความเข้มข้นของอสุจิที่เพียงพอสำหรับการวินิจฉัย
- เก็บตัวอย่างอสุจิด้วยตนเอง โดยเก็บใส่ภาชนะสะอาดที่ทางโรงพยาบาลจัดเตรียมให้
- นำส่งตัวอย่างให้ห้องปฏิบัติการภายใน 1 ชั่วโมงหลังเก็บ เพื่อรักษาคุณภาพของตัวอย่าง
การวิเคราะห์คุณภาพอสุจิ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการตรวจวิเคราะห์อสุจิโดยพิจารณาปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ดังนี้
- ปริมาณน้ำอสุจิ ควรมีปริมาณอย่างน้อย 1.5 มิลลิลิตรต่อการหลั่ง 1 ครั้ง
- ความเข้มข้นของอสุจิ ต้องมีจำนวนอสุจิไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด
- การเคลื่อนไหวของอสุจิ โดยต้องตรวจดูว่าอสุจิมีการเคลื่อนที่อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
- รูปร่างของอสุจิ โดยพิจารณาลักษณะรูปร่างทั้งส่วนหัว ลำตัว และหาง ว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ
- พักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงความเครียดก่อนวันตรวจ
- งดดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่อย่างน้อย 2-3 วันก่อนตรวจ
- แจ้งแพทย์หากกำลังรับประทานยาใดๆ เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลต่อคุณภาพอสุจิ
ภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย มักไม่มีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน ซึ่งหลายคู่มักไม่ทราบสาเหตุจนกว่าจะพยายามมีบุตรมานานกว่า 1 ปี โดยไม่มีการคุมกำเนิด ดังนั้น หากสงสัยว่าชีวิตคู่อาจประสบปัญหาเรื่องการมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
? Hotline : 082-903-2035
? Line : @vfccenter
? อ่านบทความสุขภาพ : https://www.v-ivf.com/article/
#VfertilityCenter #VFC #Eggfreezing #วีเอฟซี #สาเหตุการมีบุตรยาก #มีบุตรยาก #เด็กหลอดแก้ว #ICSI #กระตุ้นไข่ #OPUการเก็บไข่ #การเพาะเลี้ยงตัวอ่อน #การย้ายตัวอ่อน #การแช่แข็งตัวอ่อน #เพศสัมพันธ์ #น้ำเชื้ออสุจิ #การเป็นหมัน
ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชวิทยาและเวชศาตร์การเจริญพันธ์ุ
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.