ซีสต์รังไข่ เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้หญิง แต่หลายคนอาจยังสงสัยว่า “เป็นซีสต์รังไข่ มีลูกได้ไหม ?” บทความนี้จะมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับซีสต์ในรังไข่และซีสต์นอกรังไข่ ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อสุขภาพและการมีบุตร รวมถึงวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
ซีสต์รังไข่ คืออะไร ?
ซีสต์ (Cyst) รังไข่ หรือ ถุงน้ำรังไข่ อีกหนึ่งภัยเงียบที่ผู้หญิงต้องระวัง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการตกไข่ที่ผิดปกติ ส่งผลให้เกิดถุงที่เต็มไปด้วยของเหลวในรังไข่ทั้งสองข้าง โดยการเกิดซีสต์ สามารถแบ่งออกได้ 2 แบบ คือ
- ซีสต์ที่เกิดโรค คือถุงน้ำที่มีความผิดปกติ และทำให้เกิดโรคที่ส่วนของอวัยวะที่เป็นซีสต์ได้ ซึ่งอาจเป็นโรคซีสต์ทั่วไป หรือซีสต์ที่เป็นมะเร็ง
- ซีสต์ที่เกิดขึ้นและหายได้เองตามธรรมชาติ โดยปกติแล้วในรังไข่จะมีการผลิตไข่แล้วตกไปรอบละ 1 ใบ แต่หากรังไข่ผิดปกติ ไม่สามารถทำการตกไข่ได้ ก็จะทำให้เกิดเป็นซีสต์หรือถุงน้ำที่ค้างอยู่ภายในรังไข่ แต่จะสามารถหายได้เองภายใน 3 เดือน ถือเป็นซีสต์ที่เกิดโดยธรรมชาติ
การวินิจฉัยว่าเป็นซีสต์ชนิดไหน ในเบื้องต้นแพทย์จะยังไม่สามารถยืนยันได้ ส่วนใหญ่จะต้องตรวจและติดตามอาการก่อน 2-3 เดือน และดูว่าซีสต์นั้นสามารถหายได้เองตามธรรมชาติหรือไม่ หากเป็นซีสต์ที่เกิดโรคจะไม่สามารถหายเองได้และแพทย์จะทำแผนการรักษาต่อไป
สัญญาณเตือนอาการซีสต์รังไข่
ซีสต์ที่รังไข่ เป็นถุงน้ำขนาดเล็กที่เกิดขึ้นภายในรังไข่ อาจไม่มีอาการใด ๆ หรือมีอาการรบกวนชีวิตประจำวันได้ ซึ่งอาการที่มักเชื่อมโยงกับการเป็นซีสต์รังไข่มีดังนี้
- ปวดหน่วงท้องน้อย โดยเฉพาะช่วงมีประจำเดือน
- มีเลือดออกผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาไม่ตรงเวลา มีเลือดออกระหว่างรอบเดือน หรือมีเลือดออกหลังหมดประจำเดือน
- ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากซีสต์เริ่มโตขึ้นไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ
- เจ็บหรือปวดหลังส่วนล่าง
- เจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หากซีสต์มีขนาดใหญ่และอยู่ใกล้ช่องคลอด
- คลำเจอก้อนเนื้อที่หน้าท้อง
- หน้าท้องโตขึ้นผิดปกติ
ซีสต์ในรังไข่ และซีสต์นอกรังไข่
สำหรับคุณผู้หญิงที่มีความกังวลใจว่า หากเป็นซีสต์ท้องได้ไหม? คงต้องบอกว่าโดยทั่วไปแล้ว ซีสต์ที่ทำให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์และเป็นสาเหตุของโรค มักจะเป็นช็อกโกแลตซีสต์ หรือ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากและลดโอกาสในการมีลูกของคุณแม่ได้ โดยปัญหานี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งภายในรังไข่และภายนอกรังไข่
ผลกระทบของซีสต์ในรังไข่
- ซีสต์ขนาดเล็ก : เมื่อเกิดขึ้นในรังไข่หรือยังมีขนาดเล็กอยู่ ไข่อาจเจริญเติบโตได้ตามปกติ แต่คุณภาพของไข่ที่ได้รับผลกระทบจากช็อกโกแลตซีสต์จะมีสารเคมีบางอย่างที่ทำให้ไข่ที่ตกในรังไข่ข้างนั้นด้อยคุณภาพลง และเจริญเติบโตได้น้อยกว่าอีกข้างที่ไม่มีซีสต์
- ซีสต์ขนาดใหญ่ : หากขนาดซีสต์ใหญ่ขึ้นถึง 5 ซม. พื้นที่ในรังไข่จะเหลือน้อยลง และไข่จะเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ อาจทำให้ไข่ไม่ไปตกในข้างที่มีซีสต์เลย เมื่อไข่ไม่ตกในข้างที่มีซีสต์ก็ทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลงตามไปด้วย
ผลกระทบของซีสต์นอกรังไข่
- ผลกระทบต่ออวัยวะอื่น : ซีสต์ที่เกิดนอกรังไข่อาจทำให้มีโรคในอวัยวะอื่น ๆ ภายในช่องท้องหรือในมดลูกได้
- การเกิดพังผืด : อาจจะทำให้มีพังผืดเกิดขึ้นที่ปีกมดลูกจนทำให้ท่อรังไข่อุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไข่กับสเปิร์มไม่สามารถผสมกันและเกิดการปฏิสนธิได้
- ผลกระทบต่อมดลูก : หากมีการแทรกเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อมดลูกแล้ว อาจทำให้มดลูกมีขนาดที่โตขึ้น หรือมีสภาพที่ผิดธรรมชาติไป ส่งผลให้ตัวอ่อนจะฝังตัวยากขึ้นหรือไม่สามารถฝังตัวได้ ทำให้ตั้งครรภ์ได้ยาก
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นซีสต์ที่เกิดในรังไข่หรือนอกรังไข่ ต่างก็ส่งผลกระทบกับการตั้งครรภ์ทั้งสิ้น การตรวจพบและรักษาซีสต์ที่เกิดขึ้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตร
วิธีรักษาซีสต์ในรังไข่
การรักษาซีสต์ โดยทั่วไป มี 2 วิธี คือ การใช้ยาและการผ่าตัด
การรักษาด้วยยา
ตัวยาที่ใช้จะมีฤทธิ์คุมกำเนิด โดยจะเข้าไปยับยั้งไม่ให้ไข่เจริญเติบโต ทำให้ผู้ที่ได้รับยาไม่สามารถมีบุตรได้ จึงเป็นวิธีที่ไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการมีบุตร
การรักษาคือการผ่าตัด
วิธีการนี้ยังสามารถตรวจดูได้ว่าชิ้นเนื้อนั้นเป็นมะเร็งหรือมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ และทำให้คนไข้สามารถมีบุตรตามธรรมชาติได้ง่ายขึ้น
แต่ถ้าหากตรวจพบว่ามีปัญหา สามารถวางแผนการรักษาหรือผ่าตัดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการมีบุตรในอนาคตได้
ข้อควรระวัง : การผ่าตัดจะมีการลอกซีสต์ออกจากรังไข่ ซึ่งจะทำให้เนื้อที่ดีของรังไข่ติดกับผนังซีสต์ออกไปด้วย อาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของรังไข่ลดลงไปด้วย
วิธีการรักษาซีสต์รังไข่ของคนไข้แต่ละคนขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของคนไข้รวมถึงการวางแผนการมีบุตรต่อไปได้ในอนาคต
Q&A : ภาวะซีสต์ในรังไข่
Q: ซีสต์ในรังไข่มีลูกได้ไหม ? หรือ เป็นซีสต์มีลูกได้ไหม ?
A: คนไข้ที่ตรวจพบว่า มีซีสต์ที่รังไข่ ยังสามารถมีลูกได้ แต่อาจมีลูกได้ยากกว่าปกติ เนื่องจากเป็นโรคที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ทำให้การทำงานของรังไข่มีความผิดปกติ ส่งผลให้มีลูกได้ยากขึ้น
Q: ซีสต์รังไข่สามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกรอบได้ไหม ?
A: ซีสต์รังไข่มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก เพราะรังไข่ยังทำงานอยู่ จึงมีโอกาสเกิดความผิดปกติขึ้นได้อีก ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกตอาการที่ปกติและอย่าละเลยการตรวจภายในเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งกับสูตินรีแพทย์
ซีสต์ในรังไข่ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้หญิง แม้ว่าบางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการมีบุตร แต่ด้วยการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงยังสามารถมีบุตรได้
การพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำและการสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย เป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง สำหรับผู้หญิงที่มีปัญหาซีสต์รังไข่ และมีแผนที่อยากมีลูก สามารถเข้ารับบริการการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนการมีบุตร เพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ได้ที่ VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร เรามีทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์ พร้อมดูแล และให้ความมั่นใจในการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
- ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร V Fertility Center
- Hotline : 082-903-2035
- Line : @vfccenter
- อ่านบทความสุขภาพ :https://www.v-ivf.com/article/
ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชวิทยาและเวชศาตร์การเจริญพันธ์ุ
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.