คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังวางแผนมีบุตร แต่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ และกำลังวางแผนรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำ ICSI หรือ IUI อาจจะคุ้นเคยกับ “ยากระตุ้นไข่” และ “ยาเร่งไข่ตก” กันมาบ้าง ในบทความนี้ VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร จะพาทุกคนไปรู้จักกับยาทั้งสองประเภทให้มากขึ้น ทั้งในเรื่องของคุณสมบัติ ผลข้างเคียง และควรใช้เวลาไหน เพื่อส่งผลต่อกระบวนการตั้งครรภ์
ยากระตุ้นไข่ คืออะไร ?
ในขั้นตอนการรักษาการมีบุตรยาก แพทย์จะใช้ยากระตุ้นไข่เป็น 2 กลุ่มหลัก ดังต่อไปนี้
- ยากระตุ้นไข่ (Ovarian Stimulation Drug) คือ ยาที่ใช้เพื่อกระตุ้นฮอร์โมนเพศหญิงให้รังไข่มีการผลิตไข่ที่มากขึ้น ทั้งยังช่วยให้ไข่แต่ละใบมีความสมบูรณ์ มีขนาดโตเหมาะสม และพร้อมสำหรับการปฏิสนธิในขั้นตอนของการทำ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) หรือ IUI (Intrauterine Insemination) ต่อไป หากไข่มีความสมบูรณ์แข็งแรง ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้สูงขึ้น
- ยากระตุ้นไข่ตก หรือยาเร่งไข่ตก คือ ยาที่ช่วยกระตุ้นไข่ที่สุกเต็มที่แล้วให้ออกจากรังไข่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากขึ้น
ทำไมยากระตุ้นไข่และยาเร่งไข่ตกจึงสำคัญสำหรับคนอยากมีลูก ?
การทำ ICSI หรือ IUI ต้องการไข่จากคุณแม่ที่มีความสมบูรณ์และแข็งแรง และต้องการไข่จำนวนที่มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ โดยยาทั้งสองชนิดมีความสำคัญในการรักษาภาวะการมีบุตรยากดังต่อไปนี้
- เพิ่มจำนวนไข่ที่ตกในแต่ละเดือนให้มากขึ้น โดยปกติแล้ว รังไข่จะผลิตไข่เพียงเดือนละ 1 ใบเท่านั้น ซึ่งน้อยเกินไปสำหรับการทำ ICSI หรือ IUI เพราะหากมีจำนวนแค่ 1 ฟอง โอกาสสำเร็จในการตั้งครรภ์ก็จะมีน้อยตามลงไป ดังนั้น การกินยากระตุ้นไข่จึงช่วยเพิ่มจำนวนไข่ให้มากขึ้น และยาเร่งไข่ตกยังจะช่วยกระตุ้นให้ไข่หลุดออกมาจากรังไข่มากกว่า 1 ฟองในแต่ละเดือน
- เพิ่มคุณภาพของไข่ ช่วยให้ไข่ที่ตกมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
- เพิ่มโอกาสความสำเร็จ การที่จำนวนไข่เพิ่มมากขึ้นและมีความสมบูรณ์ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการตั้งครรภ์ให้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
รูปแบบของยากระตุ้นไข่
รูปแบบของยากระตุ้นไข่มีทั้งแบบฉีดและแบบรับประทาน โดยการฉีดยากระตุ้นไข่จะออกฤทธิ์ได้แรงมากกว่ายาชนิดรับประทาน แต่จะใช้วิธีไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลากหลายประการ
- ยารับประทาน มักใช้กับคนไข้ที่มีภาวะ PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ไข่ตกตามธรรมชาติ มีผลข้างเคียงน้อย แต่อาจไม่ได้ผลกับคนไข้บางราย และสามารถกระตุ้นไข่ตกได้ไม่มากเท่ากับแบบฉีด
- ยาฉีด มักใช้กับผู้ที่ใช้ยารับประทานแล้วไม่ได้ผล หรือผู้ที่ต้องการทำ ICSI หรือ IUI ที่ต้องการไข่ในปริมาณมากและมีความสมบูรณ์ สามารถเร่งให้ไข่ตกได้มากกว่า แต่ต้องระวังเรื่องผลข้างเคียง และต้องมีการตรวจร่างกายโดยแพทย์ก่อนฉีดยา เพื่อความปลอดภัย
ฉีดยากระตุ้นไข่ เวลาไหนดี ?
การฉีดยากระตุ้นไข่ แพทย์จะนัดหมายให้คุณแม่มาฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นไข่วันที่ 2-3 ของการมีประจำเดือน โดยจะใช้เวลาประมาณ 9-12 วัน เพื่อให้ไข่โต และหลุดออกมาจากผนังของรังไข่ สามารถเก็บไข่มาใช้ในการทำ ICSI หรือ IUI ได้
โดยปกติแล้ว ธรรมชาติของระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง ภายในรังไข่จะมีเซลล์ไข่จำนวนมาก และไข่แต่ละใบจะค่อย ๆ เติบโตเต็มวัยจนสุก และหลุดออกจากผนังของรังไข่ เพื่อรอผสมกับอสุจิของฝ่ายชาย แต่การฉีดยากระตุ้นไข่ จะช่วยเร่งการเติบโตของไข่ให้สุกเร็วขึ้น และหลุดออกจากรังไข่พร้อมกันหลายใบ อีกทั้งไข่ยังมีความสมบูรณ์ ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาภาวะการมีบุตรยากให้ประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น
หลังจากที่แพทย์ฉีดยากระตุ้นไข่แล้ว จะนัดหมายให้คนไข้เดินทางมาที่คลินิกเพื่อตรวจเลือดและทำอัลตราซาวนด์ เป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพของยากระตุ้นไข่ว่าได้ผลดี และพร้อมสำหรับการเก็บไข่หรือไม่
ฉีดยากระตุ้นไข่มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง ?
สำหรับคนไข้บางคน หลังจากฉีดยากระตุ้นไข่ตกหรือยากระตุ้นไข่อาจจะได้รับผลข้างเคียง ดังต่อไปนี้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อารมณ์แปรปรวน
- ท้องอืด
ในกรณีที่ฉีดยากระตุ้นไข่แล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนที่รุนแรง ท้องอืด รอบเอวใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงมีน้ำหนักเพิ่ม และปัสสาวะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด
ยากระตุ้นไข่เหมาะสำหรับใคร ?
ยากระตุ้นไข่ ไม่ได้นำมาใช้เฉพาะการทำ ICSI หรือ IUI เท่านั้น แต่ยังนำมาใช้ในวัตถุประสงค์ในการรักษาทั่วไป โดยจะเหมาะสำหรับบุคคลดังต่อไปนี้
- ผู้ที่อยู่ในขั้นตอนการรักษาการมีบุตรยาก อยู่ระหว่างการทำ ICIS หรือ IUI
- ผู้ที่ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ
- ผู้ที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพของไข่
- ผู้ที่รังไข่เสื่อมก่อนวัยอันควร
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ยากระตุ้นไข่และยาเร่งไข่ตก
สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาภาวะการมีบุตรยากหรือระบบสืบพันธุ์โดยการใช้ยากระตุ้นไข่และยาเร่งไข่ตก มีข้อควรระมัดระวังดังต่อไปนี้
- ต้องดำเนินการโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น ห้ามกินหรือฉีดยากระตุ้นไข่และยากระตุ้นไข่ตกเองโดยพลการ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
- ตรวจสุขภาพร่างกายก่อนอย่างละเอียด เพื่อประเมินความเหมาะสมในการใช้ยา
การฉีดยากระตุ้นไข่และยาเร่งไข่ตกเป็นหนึ่งในขั้นตอนการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยช่วยเพิ่มโอกาสของความสำเร็จให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น เพราะจัดเป็นยากลุ่มอันตราย
หากว่าคู่สมรสคู่ใดที่กำลังวางแผนจะมีบุตร สามารถขอคำแนะนำกับแพทย์เฉพาะทาง เพื่อปรึกษาและรับคำแนะนำได้ที่
- VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
- Hotline : 082-903-2035
- Line : @vfccenter
- อ่านบทความสุขภาพ : https://www.v-ivf.com/article/
ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชวิทยาและเวชศาตร์การเจริญพันธ์ุ
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.