เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

ตรวจฮอร์โมน AMH คือหนทางเพิ่มความสำเร็จในการตั้งครรภ์

ตรวจฮอร์โมน AMH คือหนทางเพิ่มความสำเร็จในการตั้งครรภ์

สำหรับคู่แต่งงานที่กำลังเผชิญกับภาวะมีบุตรยาก การตรวจ AMH คือกระบวนการที่ใช้ประเมินการทำงานของรังไข่ ว่ามีความพร้อมและมีศักยภาพในการผลิตฟองไข่หรือไม่ ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนทำ ICSI เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับการตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จ

 

การตรวจ AMH คืออะไร ?

AMH (Anti-Mullerian Hormone) คือฮอร์โมนที่สร้างขึ้นจากฟองไข่ขนาดเล็กในรังไข่ โดยปริมาณของฮอร์โมน AMH จะสะท้อนถึงจำนวนฟองไข่ที่เหลืออยู่ในรังไข่ โดยค่า AMH ที่สูงจะบ่งบอกว่ามีฟองไข่ในปริมาณมาก

ฮอร์โมน AMH มีความพิเศษตรงที่ค่อนข้างคงที่ ทำให้สามารถตรวจวัดค่าได้ทุกช่วงเวลา ไม่จำเป็นต้องรอรอบประจำเดือนเหมือนกับการตรวจฮอร์โมนชนิดอื่น ๆ ซึ่งสามารถนำผลลัพธ์ไปใช้ในการวางแผนตั้งครรภ์หรือทำการรักษาภาวะมีบุตรยาก เช่น การทำ ICSI ให้ประสบความสำเร็จได้

 

ค่า AMH ปกติเท่าไร ?

ค่าฮอร์โมน AMH จะอยู่ในระดับที่แตกต่างกัน โดยจะมีค่าสูงในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์และลดลงเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งค่ามาตรฐานของ AMH ที่บ่งบอกถึงการทำงานของรังไข่ที่ปกติและเหมาะสมในการตั้งครรภ์นั้นแบ่งได้ ดังนี้

  • ค่า AMH สูงกว่า 4.0 ng/mL บ่งบอกว่ามีฮอร์โมนสูง มักพบร่วมกับภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS
  • ค่า AMH ระหว่าง 1.0 – 4.0 ng/mL บ่งบอกว่ารังไข่ยังทำงานได้ปกติ แต่หากค่าใกล้กับระดับ 1.0 ng/mL ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อติดตามสภาวะสุขภาพ
  • ค่า AMH 0.3-1.0 ng/mL บ่งชี้ถึงว่าฮอร์โมนค่อนข้างต่ำ ปริมาณฟองไข่ลดลง รังไข่เริ่มทำงานได้น้อยลง ซึ่งทำให้โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จยากขึ้น
  • ค่า AMH น้อยกว่า 0.3 ng/mL บ่งบอกว่าภาวะฮอร์โมนต่ำ จำนวนไข่เหลือน้อยมาก มีภาวะมีบุตรยากสูง ควรต้องปรึกษาแพทย์

การตรวจประเมินค่า AMH เป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความพร้อมของรังไข่ และแนะนำแนวทางในการเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ค่าฮอร์โมน AMH ต่ำ ท้องได้ไหม ?

ผู้หญิงที่พบว่าตนเองมีค่าฮอร์โมน AMH ต่ำ อาจกังวลว่าตนเองจะท้องได้ไหม ซึ่งถึงแม้ว่าค่า AMH ที่ต่ำจะบ่งบอกว่าจำนวนฟองไข่เริ่มลดลง แต่ก็ยังสามารถตั้งครรภ์ได้ โดยดูจากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อายุของฝ่ายหญิง สุขภาพโดยรวม และการดูแลร่างกายอย่างถูกวิธี

อย่างไรก็ตาม สำหรับคู่แต่งงานที่ต้องการมีบุตร แพทย์อาจแนะนำให้ทำ ICSI ซึ่งเป็นกระบวนการช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

 

AMH น้อยกว่า 1 ng/mL มีโอกาสทำอิ๊กซี่สำเร็จหรือไม่ ?

ถ้าตรวจค่า AMH แล้วพบว่าค่าน้อยลง ย่อมหมายถึงรังไข่เริ่มทำงานลดลง จึงมีโอกาสในการตั้งท้องน้อยลงไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อค่า AMH น้อยกว่า 1 ng/mL ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยความสำเร็จของการทำอิ๊กซี่ นอกจากการตรวจ AMH แล้ว ยังต้องคำนึงถึงอายุของฝ่ายหญิง และการตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อประเมินฟองไข่เริ่มต้น (AFC) อีกด้วย โดยที่ถ้า AMH น้อยกว่า 1 ng/mL แต่อายุยังไม่มากและมีฟองไข่เริ่มต้นไม่น้อยเกินไป ก็ยังมีโอกาสตั้งท้องได้สำเร็จ จากการทำอิ๊กซี่

 

ค่าฮอร์โมน AMH ต่ำทำอย่างไร ?

หากตรวจพบว่าค่าฮอร์โมน AMH ต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม เนื่องจากการบำรุงและรักษาในกรณีที่ค่า AMH ต่ำจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล โดยมีแนวทาง ดังนี้

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกาย การลดความเครียด และการพักผ่อนที่เพียงพอ เพื่อช่วยในการเสริมสร้างสุขภาพของรังไข่
  • การรับประทานอาหารเสริมและวิตามินบำรุงรังไข่ เช่น โฟลิกแอซิด โคเอนไซม์ Q10 วิตามิน C ธาตุเหล็ก และโอเมก้า 3 โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรับประทาน เพื่อให้ได้รับปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัย
  • การรักษาภาวะมีบุตรยาก แพทย์จะแนะนำให้ทำ ICSI หรือ IVF ซึ่งเป็นเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์
  • การตรวจค่า AMH และการทำอัลตราซาวนด์ประเมินฟองไข่เป็นระยะ ช่วยให้แพทย์สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงและวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

การตรวจฮอร์โมน AMH เป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับผู้หญิงที่อยากเพิ่มโอกาสความสำเร็จให้กับการตั้งครรภ์ แต่ค่า AMH ที่ต่ำก็ไม่ได้หมายความว่าโอกาสตั้งครรภ์จะหมดไป แต่อาจต้องใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ ควบคู่กันไป เช่น การทำ ICSI หรือ IVF ทั้งยังจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม รวมถึงปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้าใจถึงแนวทางการรักษาและได้ผลลัพธ์อย่างที่ตั้งใจ หากสนใจติดต่อที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตรยาก VFC โดยโรงพยาบาลเวชธานี

 

บทความโดย แพทย์ศรมน ทรงวีรธรรม

ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ได้ที่

VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร

Hotline : 082-903-2035

Line : @vfccenter

อ่านบทความสุขภาพ : https://www.v-ivf.com/article/

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.