ในอดีต คนมักจะมองว่าภาวะมีบุตรยากย่อมเกิดจากปัญหาสุขภาพของฝ่ายหญิงเป็นหลัก เพราะเป็นผู้ตั้งครรภ์ หากร่างกายอ่อนแอก็อาจทำให้การตั้งครรภ์ไม่ประสบความสำเร็จ แต่หากประเมินภาวะมีบุตรยากตามหลักการแพทย์แล้ว จะพบว่าสาเหตุของการมีบุตรยากเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ รวมทั้งเกิดได้จากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงอีกด้วย
สำหรับคู่สามีภรรยาที่กำลังเผชิญกับปัญหาภาวะมีบุตรยาก พยายามเท่าไหร่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์จนกลายเป็นความกดดันและอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตแต่งงาน ลองมาประเมินภาวะมีบุตรยากจากสาเหตุเหล่านี้ และเรียนรู้แนวทางการตรวจภาวะมีบุตรยากเบื้องต้นจากบทความนี้กัน
ไขข้อสงสัย แค่ไหนจึงเรียกว่าภาวะมีบุตรยาก?
ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) คือภาวะที่คู่สมรสไม่ประสบความสำเร็จในการมีบุตร หลังจากมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอและไม่มีการคุมกำเนิดมาเป็นระยะเวลา 1 ปีขึ้นไป หรือในกรณีที่ฝ่ายหญิงมีอายุเกิน 35 ปี ที่มีเพศสัมพันธ์มานานกว่า 6 เดือน โดยภาวะมีบุตรยากอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย รวมถึงเกิดได้จากปัญหาสุขภาพของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย
สาเหตุภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากฝ่ายชาย
สำหรับปัญหาสุขภาพของฝ่ายชายนั้น สามารถตรวจภาวะมีบุตรยากได้จากการวิเคราะห์คุณภาพของน้ำเชื้อ เพื่อดูถึงระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน รวมถึงการตรวจอัลตราซาวนด์ลูกอัณฑะและหลอดเลือด และการส่องกล้องตรวจภายในช่องท้องและถุงอัณฑะ
โดยสาเหตุที่พบบ่อยและส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากของเพศชาย ได้แก่
1. มีภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ
ภาวะฮอร์โมนเพศต่ำหรือ Hypogonadism เป็นภาวะที่ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมีความผิดปกติ ส่งผลให้ความต้องการทางเพศและปริมาณของตัวอสุจิน้อยลง อวัยวะเพศแข็งตัวได้ไม่สมบูรณ์ และลูกอัณฑะมีขนาดเล็กลง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่กระทบต่อโอกาสในการตั้งครรภ์ทั้งสิ้น
2. เส้นลำเลียงน้ำเชื้ออสุจิโป่งพอง
อาการเส้นลำเลียงน้ำเชื้ออสุจิโป่งพอง (Varicocele) คือภาวะที่หลอดเลือดดำภายในถุงอัณฑะโป่งพอง ทำให้คุณภาพน้ำอสุจิลดลงและขัดขวางการเคลื่อนตัวของอสุจิ โอกาสที่จะตั้งครรภ์สำเร็จจึงลดลงตามไปด้วย
3. เป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์
โรคที่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ชายมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โรคตับ โรคไต การติดเชื้อที่ระบบอวัยวะเพศหรืออวัยวะสืบพันธุ์ โรคทางพันธุกรรม ภาวะโรคแทรกซ้อนทางระบบประสาทที่เกิดจากโรคเบาหวาน และโรคเม็ดเลือดขาวรูปเคียว ซึ่งควรได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้
4. อัณฑะมีความผิดปกติ
อัณฑะถือเป็นอวัยวะสำคัญในระบบสืบพันธุ์ หากมีความผิดปกติ ย่อมส่งผลต่อการประเมินภาวะมีบุตรยากโดยตรง โดยความผิดปกติที่พบบ่อย ได้แก่
- อัณฑะบิด ทำให้การส่งเลือดไปเลี้ยงที่ลูกอัณฑะถูกตัดขาด
- มีอัณฑะข้างเดียว ส่งผลให้ผลิตอสุจิได้น้อยกว่าคนทั่วไป
- อัณฑะเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ
5. ปัจจัยอื่น ๆ จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต
พฤติกรรมการใช้ชีวิตก็จัดเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยาก ทั้งการทำงานหนักเกินไป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่จัด ขาดสารอาหารกลุ่ม Folic Acid และ Lycopene การอาบน้ำร้อนบ่อย ๆ การได้รับสารพิษกลุ่มตะกั่ว ทองแดง ยาฆ่าแมลงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการใส่กางเกงที่รัดจนเกินไป
สาเหตุภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากฝ่ายหญิง
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการมีบุตรยาก สาเหตุเกิดขึ้นได้จากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง สำหรับฝ่ายหญิงนั้น การตรวจภาวะมีบุตรยากทำได้หลายวิธีเช่นกัน คือการตรวจระดับฮอร์โมนและพันธุกรรม การตรวจมดลูกและรังไข่ด้วยวิธีอัลตราซาวนด์ การส่องกล้องเพื่อตรวจโพรงมดลูก และการตรวจเอกซ์เรย์โพรงมดลูกและท่อนำไข่ ส่วนสาเหตุภาวะมีบุตรยากจากฝ่ายหญิงที่พบบ่อย มีดังนี้
1. ปัญหาจากการตกไข่
ถือเป็นปัญหาที่พบในคู่สมรสที่มีบุตรยากมากถึง 25% ซึ่งการตกไข่จะปกติหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระดับฮอร์โมน อายุ น้ำหนักตัว ความเครียด และถุงน้ำรังไข่ โดยสามารถซื้อชุดทดสอบการตกไข่จากร้านขายยามาตรวจเองเบื้องต้นได้ แต่ถ้าหากมีความผิดปกติเป็นเวลานาน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างถูกวิธีเพื่อรับการรักษาให้ตรงจุด
2. ความผิดปกติของท่อนำไข่
ไม่ว่าจะเป็นท่อนำไข่บวมน้ำหรือท่อนำไข่ตีบตัน ก็ล้วนเป็นความผิดปกติที่ก่อให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้เช่นกัน โดยท่อนำไข่บวมน้ำเกิดจากการติดเชื้อหรือพังผืดที่ปลายท่อ ทำให้ของเหลวภายในทำลายการฝังตัวของตัวอ่อน ส่วนท่อนำไข่ตีบตันเป็นภาวะที่ทำให้ไข่ไม่สามารถเดินทางผ่านเพื่อมาปฏิสนธิกับอสุจิได้ จึงทำให้การตั้งครรภ์ล้มเหลวนั่นเอง
3. มดลูกและปากมดลูกผิดปกติ
ความผิดปกติของมดลูกและปากมดลูกอาจเป็นโดยกำเนิดหรือเป็นภายหลังก็ได้ เช่น เนื้องอกในโพรงมดลูก ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก และพังผืดในโพรงมดลูก ซึ่งจะส่งผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนและเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตรได้
4. ปัญหาจากเยื่อบุภายในช่องท้อง
เยื่อบุช่องท้องคือเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอวัยวะภายในช่องท้อง อุ้งเชิงกราน มดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ หากมีการอักเสบหรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาจก่อให้เกิดแผลเป็นหรือพังผืดจนกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ได้เช่นกัน
และนี่คือการประเมินภาวะมีบุตรยากซึ่งสามารถเกิดได้จากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง หากคุณกับคู่สมรสต้องการเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ สามารถเข้ารับการตรวจภาวะมีบุตรยากกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร ที่จะช่วยวางแผนอย่างถูกวิธีเพื่อการตั้งครรภ์ที่ราบรื่นและปลอดภัย ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ VFC
ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline : 082-903-2035
LINE Official : @vfccenter
ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชวิทยาและเวชศาตร์การเจริญพันธ์ุ
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.