เชื่อว่าคงมีคู่สามีภรรยาจำนวนไม่น้อย ที่มีความพร้อมและตัดสินใจจะมีเจ้าตัวเล็กเป็นโซ่ทองคล้องใจ แต่ในวันที่ฝ่ายหญิงเริ่มมีอายุมากขึ้น หลายคู่กลับต้องถอดใจ เพราะกลัวและไม่แน่ใจว่าการมีลูกตอนอายุมากจะเป็นอันตรายไหม หรือจะเสี่ยงกับการมีปัญหาสุขภาพในอนาคตของทั้งแม่และเด็กหรือไม่ หากคู่รักคู่ไหนกำลังสงสัยอยู่ว่าผู้หญิงอายุเยอะมีลูกได้ไหม และอายุที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลอย่างไรต่อการตั้งครรภ์บ้าง ติดตามได้เลยในบทความนี้
อายุที่เหมาะกับการตั้งครรภ์ของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
ฝ่ายชาย
สำหรับผู้ชายแล้วอาจไม่ค่อยได้เจอกับคำถามที่ว่า “มีลูกตอนอายุมากจะอันตรายไหม?” เพราะคู่รักหลายคู่อาจคิดว่าปัญหาการตั้งครรภ์ยากมักเกิดจากฝ่ายหญิง แต่แท้จริงแล้วผู้ชายก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน เพราะอายุที่เหมาะสมกับการมีลูกของฝ่ายชายคือช่วงอายุ 20-45 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุ 30-35 ปี ที่อสุจิจะมีความแข็งแรงที่สุด ซึ่งภาวะเจริญพันธุ์ของเพศชายก็จะแตกต่างกันไปตามจำนวนอสุจิของแต่ละคน แต่โดยทั่วไปแล้วเมื่ออายุมากขึ้น ระบบเจริญพันธุ์จะผลิตอสุจิได้น้อยและอ่อนแอลง ทำให้ทั้งจำนวนและการเคลื่อนไหวของอสุจิเสื่อมถอยตามไปด้วย
ฝ่ายหญิง
แต่ในตรงกันข้าม หลายคนมักจะเกิดคำถามว่า “ผู้หญิงอายุเยอะมีลูกได้ไหม?” หรือ “ผู้หญิงจะสามารถตั้งครรภ์ได้ถึงอายุเท่าไร?” ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอายุของผู้หญิงที่เหมาะสมต่อการมีลูกจะอยู่ในช่วงอายุ 20-35 ปี เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายแข็งแรงและมีความสมบูรณ์ แต่จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากที่สุดในช่วงอายุ 20-29 ปี และจะค่อย ๆ ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น และลดลงอย่างชัดเจนหลังอายุ 35 ปีขึ้นไปแล้ว ทำให้การตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปี ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง แต่ด้วยยุคสมัยและเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ช่วยส่งเสริมการตั้งครรภ์มากมาย ทำให้อายุของผู้หญิงที่มาฝากครรภ์มีตัวเลขสูงขึ้นเรื่อย ๆ
มีลูกตอนอายุมาก อันตรายไหม?
ผลกระทบต่อแม่
สำหรับคำถามที่ว่าผู้หญิงอายุเยอะมีลูกได้ไหม ก็คงต้องตอบว่า “ได้” แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากกว่าปกติ เนื่องจากการตั้งครรภ์เมื่ออายุมากขึ้นอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ซึ่งหากได้รับการดูแลที่ไม่ถูกต้องทั้งในขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด และในระยะหลังคลอดก็อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย ได้แก่
- เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากในช่วงที่ตั้งครรภ์ ร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้อย่างเต็มที่ จึงอาจทำให้ระบบควบคุมน้ำตาลในเลือดผิดปกติจนเกิดโรคเบาหวานตามมา
- ครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะของผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เกิดปัญหาความดันโลหิตสูง ซึ่งต่อให้ไม่เคยเป็นความดันโลหิตสูงมาก่อนก็อาจเกิดภาวะนี้ได้ และอาจเป็นร่วมกับภาวะโปรตีนสูงในปัสสาวะด้วย
ผลกระทบต่อทารกในครรภ์
จากความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ของผู้หญิงที่มีอายุมาก ยังอาจส่งผลแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์ได้ด้วยเช่นกัน
- คลอดก่อนกำหนด โดยมีสาเหตุมาจากมดลูกบีบตัว ปากมดลูกเปิดและบางก่อนกำหนด ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดอาจส่งผลให้ทารกที่คลอดออกมา มีการเจริญเติบโตที่ไม่สมบูรณ์เต็มที่และมีน้ำหนักตัวแรกเกิดที่ต่ำกว่าปกติ
- เสี่ยงต่อภาวะดาวน์ซินโดรม ซึ่งจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุของแม่ โดยเป็นผลมาจากความผิดปกติของโครโมโซมที่ทำให้ตัวอ่อนเกิดความบกพร่องทางสติปัญญา และรูปร่างหน้าตาที่ผิดปกติ
แต่ก็สามารถดูแลและป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ได้ตั้งแต่ต้น ด้วยการเจาะเลือดเพื่อตรวจโครโมโซมเด็กระหว่างการตั้งครรภ์ หรือเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจหาความผิดปกติ เนื่องจากทารกที่มีความผิดปกติของโครโมโซมอาจมีความเสี่ยงในการแท้งมากกว่าปกติอีกด้วย
ทางออกสำหรับผู้ที่อยากมีลูกตอนอายุมาก
การฝากไข่ (Oocyte Freezing)
การฝากไข่ คือการแช่แข็งไข่ของผู้หญิงไว้ที่อุณหภูมิต่ำมาก (-196 องศาเซลเซียส) เพื่อเก็บรักษาเอาไว้ใช้ในอนาคตเมื่อพร้อมตั้งครรภ์ ทำให้สามารถวางแผนการมีบุตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสามารถกำหนดช่วงอายุที่จะตั้งครรภ์ได้ โดยผู้หญิงที่ฝากไข่ไว้สามารถนำมาปฏิสนธิกับอสุจิของฝ่ายชายด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้ประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น
การทำ IUI
การฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก (Intra-Uterine Insemination: IUI) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยแพทย์จะใช้ยากระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ ซึ่งจะส่งผลให้มีไข่ตกมากกว่าปกติ และทำการคัดกรองตัวอสุจิที่แข็งแรงที่สุดเพื่อฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง จึงช่วยเพิ่มโอกาสที่ตัวอสุจิจะเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ ทำให้การตั้งครรภ์เมื่ออายุมากเป็นไปได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
การทำ IVF
การทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization: IVF) เป็นการผสมไข่และเชื้ออสุจินอกร่างกายในห้องปฏิบัติการ จากนั้นค่อยนำตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วไปฝังในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง โดยวิธีการทำ IVF จะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงที่มีอายุมากได้ เนื่องจากเป็นกระบวนการเพิ่มจำนวนไข่โดยการใช้ยากระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ ทำให้มีโอกาสปฏิสนธิกับอสุจิมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มโอกาสที่ตัวอ่อนจะฝังตัวในโพรงมดลูกจากการใช้ยาปรับฮอร์โมนเพื่อเตรียมความพร้อมของมดลูก
การทำ ICSI
การทำ ICSI (Intra-Cytoplasmic Sperm Injection) คือการฉีดตัวอสุจิเข้าไปในไข่โดยตรงในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิและการตั้งครรภ์ รวมถึงช่วยเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิกับไข่ เพราะสามารถแก้ปัญหาตัวอสุจิเคลื่อนไหวผิดปกติ ตัวอสุจิมีจำนวนน้อย หรือตัวอสุจิมีรูปร่างผิดปกติ จากการที่ฝ่ายชายอายุเยอะได้จนอสุจิเสื่อมสภาพได้
อ่านมาถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนอาจรู้แล้วว่า หากต้องการมีลูกตอนอายุมากจะเป็นอันตรายไหม? แต่หากมีการวางแผนและเตรียมตัวอย่างเหมาะสมก็จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคไปได้
หากคุณคือหนึ่งคู่รัก ที่อยากมีลูกตอนอายุมากหรือประสบปัญหามีลูกยากด้วยสาเหตุใดก็ตาม สามารถเข้ามารับคำปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ที่ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก VFC Center คลินิกมีบุตรยากที่พร้อมให้การดูแลในราคาเป็นมิตร มีประสบการณ์การรักษาด้วยเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์มานานกว่า 15 ปี ทั้งการฝากไข่, ทำ IUI, การทำ IVF, การทำ ICSI
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline : 082-903-2035
Line : @vfccenter
บทความ โดย: แพทย์วรวัฒน์ ศิริปุณย์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.