การแบ่งเกรดตัวอ่อนเป็นขั้นตอนสำคัญในการผสมเทียมซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ รวมถึงกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ ICSI ที่เป็นการเพิ่มโอกาสของการปฏิสนธิ ซึ่งการแบ่งเกรดตัวอ่อนจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินคุณภาพและระดับความพร้อมของตัวอ่อนได้อย่างแม่นยำ และเลือกช่วงเวลาให้เหมาะสมสำหรับการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในมดลูก เพราะตัวอ่อนแต่ละตัวอาจมีช่วงเวลาที่เหมาะสมแตกต่างกันออกไป จึงต้องมีการคัดเกรด โดยมักจะทำการประเมินคุณภาพตัวอ่อนในวันที่ 3 และ 5 หลังเก็บไข่ เพื่อทำการแบ่งเกรด โดยสามารถติดตามและทำความรู้จักการแบ่งเกรดตัวอ่อนให้มากขึ้นได้ในบทความนี้
การแบ่งเกรดตามระยะตัวอ่อน
1. ตัวอ่อนอายุ 3 วันหรือระยะคลีเวจ (Cleavage)
เป็นระยะแรกของการพัฒนาตัวอ่อน ซึ่งจะเริ่มหลังจากไข่ได้รับการปฏิสนธิกับสเปิร์มแล้ว 24-72 ชั่วโมง โดยจะประเมินรูปร่างและโครงสร้าง ตามปัจจัยสำคัญเหล่านี้
จำนวนเซลล์
ในระยะนี้ ตัวอ่อนจะเริ่มแบ่งตัวออกเป็นเซลล์เล็ก ๆ โดยการแบ่งเซลล์ที่เหมาะสมสำหรับตัวอ่อนคลีเวจที่สุดคือ 6-10 เซลล์ ซึ่งตัวอ่อนที่มีจำนวนเซลล์ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ถือว่ามีคุณภาพดี และมีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโตเป็นระยะบลาสโตซิสต์และฝังตัวในมดลูกได้ แต่ตัวอ่อนที่มีการแบ่งเซลล์ 3-6 เซลล์ ก็ยังถือว่ามีโอกาสที่จะเติบโตเป็นทารกได้เช่นกัน
ลักษณะของเซลล์
การประเมินลักษณะเซลล์ของแต่ละที่อาจมีเกณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งลักษณะของเซลล์ที่มีคุณภาพจะมีรูปร่างกลมสวยในขนาดเท่า ๆ กัน โดยจะมีการแบ่งเกรดออกเป็น A, B, C ตามลำดับสูงไปต่ำสุด และควรมีเศษเซลล์ขนาดเล็กที่ผิดปกติ หรือ Fragmentation น้อยกว่า 20% ซึ่งเซลล์ที่มีรูปร่างไม่กลม มีขนาดแตกต่างกันมาก และมีเศษเซลล์ขนาดเล็กที่ผิดปกติ ถือว่ามีคุณภาพไม่ดี มีแนวโน้มที่จะไม่เจริญเติบโตเป็นระยะบลาสโตซิสต์ได้ไม่เต็มที่
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่แพทย์อาจนำมาพิจารณาร่วมด้วย เช่น การรวมตัวของเซลล์ หรือการตรวจดูน้ำภายในเซลล์ แต่โดยสรุปรวมแล้วตัวอ่อนระยะคลีเวจที่ดี ควรมีจำนวน 8 เซลล์ ที่จะได้รับการแบ่งเกรดให้เป็นเกรด A และมีเศษเซลล์ขนาดเล็กที่ผิดปกติน้อยกว่า 20% จากทั้งหมด
2. ตัวอ่อนอายุ 5 วันหรือตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst)
เป็นระยะหลังจากไข่ได้รับการปฏิสนธิกับสเปิร์มแล้ว 5-6 วัน ซึ่งเป็นระยะที่จะมี Inner cell mass (ICM) ซึ่งเป็นกลุ่มเซลล์ที่จะอยู่ข้างใดข้างหนึ่งของตัวอ่อน เพื่อกลายไปเป็นตัวทารกในอนาคต และเซลล์รอบ ๆ (Trophectoderm Epithelium – TE) ที่จะกลายเป็นส่วนของรกและเนื้อเยื่อที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์ โดยจะวัดจากปัจจัยสำคัญและมีการแบ่งเกรด ดังนี้
Expansion of Blastocyst
เป็นการดูถึงระยะของการเติบโตของบลาสโตซิสต์ หรือช่องกลวงในบลาสโตซิสต์ โดยแบ่งออกเป็น 6 เกรด ดังนี้
- เกรด 1 Early Blastocyst ซึ่งเป็นระยะที่จะมีบลาสโตซิสต์น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาตรตัวอ่อน
- เกรด 2 Blastocyst ซึ่งเป็นระยะที่จะมีบลาสโตซิสต์มากกว่าครึ่งหนึ่งของขนาดตัวอ่อน
- เกรด 3 Full Blastocyst ซึ่งเป็นระยะที่บลาสโตซิสต์เจริญเต็มที่อยู่ในตัวอ่อน และขนาดตัวอ่อนเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น
- เกรด 4 Expanded Blastocyst ซึ่งเป็นระยะที่จะมีปริมาตรของบลาสโตซิสต์มีขนาดใหญ่กว่า 3 ระยะแรกของตัวอ่อน และผนังเซลล์ไข่ หรือ Zona pellucida จะบางลงครึ่งหนึ่ง
- เกรด 5 Hatching Blastocyst ซึ่งเป็นระยะที่จะมีส่วนที่จะเติบโตไปเป็นรกหรือ Trophectoderm เริ่มโผล่ออกมานอกผนังเซลล์ไข่แล้ว
- เกรด 6 Hatched Blastocyst ซึ่งเป็นระยะที่จะมีตัวอ่อนฟักตัวหลุดออกมาจากผนังเซลล์ไข่แล้ว
Inner Cell Mass
เป็นการพิจารณาจากกลุ่มเซลล์ภายในบลาสโตซิสต์ซึ่งมีโอกาสจะกลายเป็นทารกในครรภ์ โดยให้คะแนนแบ่งเป็น 3 เกรด A, B, C โดย A เป็นเกรดที่ดีและมีคุณภาพที่สุด ดังนี้
- เกรด A เซลล์มีจำนวนมาก และยึดเกาะกันเป็นกลุ่มก้อนอย่างเห็นได้ชัด
- เกรด B เซลล์มีจำนวนไม่มาก และมีการรวมกลุ่มกันแบบหลวม ๆ
- เกรด C เซลล์มีจำนวนน้อยมาก และมีความกระจัดกระจาย มองไม่เห็นการรวมกลุ่ม
Trophectoderm Epithelium (3 เกรด)
เป็นเซลล์ที่จะกลายเป็นส่วนของรกและเนื้อเยื่อที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์ โดยให้คะแนนแบ่งเป็น 3 เกรด A, B, C ดังนี้
- เกรด A มีเซลล์ที่ยึดเกาะกันแน่นจำนวนมากและมีขนาดเรียงตัวกันสม่ำเสมอ
- เกรด B มีเซลล์จำนวนน้อย มีการยึดเกาะกันหลวม ๆ และมีขนาดไม่สม่ำเสมอ
- เกรด C มีเซลล์จำนวนน้อยมากและมีขนาดเล็กบาง ไม่สม่ำเสมอ
โดยตัวอ่อนที่มีอายุ 5 วัน ที่ได้เกรด 5AA คือตัวอ่อนที่เริ่มโผล่ออกมานอกเปลือก โดยยังไม่หลุดออกมาจากผนังเซลล์ไข่ และเซลล์เริ่มเกาะเป็นกลุ่มก้อนอย่างเห็นได้ชัด จึงมีแนวโน้มที่จะฝังตัวและเติบโตไปเป็นทารกได้สำเร็จ
การแบ่งเกรดตัวอ่อนช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้หรือไม่?
หลายคนคาดหวังว่าการคัดเกรดตามระยะตัวอ่อนจะช่วยให้สามารถตั้งครรภ์ได้สำเร็จ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้มีการการันตีว่าการคัดเกรดตัวอ่อนจะส่งผลต่อความสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้ เพราะยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาร่วมกันด้วย เช่น
- ติดตามการพัฒนาของตัวอ่อนหลังการคัดเกรด เพราะไม่ใช่ว่าพอคัดเกรดแล้วทุกอย่างจะเสร็จสมบูรณ์ การพัฒนาของตัวอ่อนหลังคัดเกรดก็ส่งผลเช่นกัน เช่น ตัวอ่อนที่ประสิทธิภาพต่ำอาจเริ่มพัฒนาขึ้นมาได้ภายในวันเดียว หรือถึงแม้ว่าจะเป็นตัวอ่อนที่มีคะแนนสูง แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ถึงผลสำเร็จ จึงต้องคอยติดตามการตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิด
- อาจเกิดตัวแปรและความไม่แน่นอน เนื่องจากการคัดเกรดเป็นการประเมินคุณภาพตัวอ่อนเท่านั้น ไม่ได้ประเมินถึงปัจจัยอื่นที่อาจกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์
- ถึงแม้ว่าการแบ่งเกรดตัวอ่อนจะช่วยประเมินคุณภาพของตัวอ่อนได้ แต่ผลที่ได้อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล สิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการมีบุตรได้ คือการปรึกษาผู้มีประสบการณ์โดยตรง เพื่อวางแผนเกี่ยวกับการทำ ICSI ที่ศูนย์รักษาการมีบุตรยาก VFC Center ที่ช่วยดูแลในราคาสมเหตุสมผล ที่พร้อมดูแลโดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ ด้วยการรักษาโดยเทคโนโลยีและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย ช่วยเพิ่มโอกาสให้การตั้งครรภ์สำเร็จได้อย่างปลอดภัย
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline : 082-903-2035
LINE Official : @vfccenter
บทความโดยแพทย์หญิงศรมน ทรงวีรธรรม
แหล่งอ้างอิง
- การแบ่งเกรดตัวอ่อน สำหรับทำเด็กหลอดแก้ว. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/ivf-embryo-grading
- Understanding Embryo Grading. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.genesisfertility.com/blog/understanding-embryo-grading/
- All About IVF Embryo Grading. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.healthline.com/health/infertility/embryo-grading#charts
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.