ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังวางแผนมีบุตร อาจเคยได้ยินชื่อโรคธาลัสซีเมียกันมาบ้าง ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก โดยพบได้มากถึงร้อยละ 40 ของประชากรไทย ซึ่งหากไม่มีการวางแผนครอบครัวให้ดีก็อาจมีโอกาสที่ลูกรักจะเป็นโรคนี้ไปด้วยเช่นกัน
สำหรับคู่รักบางคู่ ที่ไม่รู้ว่าตนเองและคู่รักเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียอยู่หรือไม่ บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้น รวมถึงไปหาคำตอบกันว่า ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่เป็นโรคธาลัสซีเมียจะมีโอกาสมีลูกได้ไหม และควรทำอย่างไร เพื่อไม่ส่งต่อโรคนี้ไปสู่ลูกรักของเรา
โรคธาลัสซีเมีย คืออะไร ?
ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นกลุ่มโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายผลิตฮีโมโกลบินได้ไม่เพียงพอ หรือฮีโมโกลบินที่สร้างมีความผิดปกติ โดยฮีโมโกลบินที่ว่านี้ เป็นโปรตีนในเม็ดเลือดแดงที่มีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงร่างกาย ดังนั้น หากร่างกายผลิตฮีโมโกลบินได้ไม่เพียงพอ จะทำให้มีอาการซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย รวมถึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ภาวะโลหิตจางรุนแรง หรือภาวะหัวใจวาย ภาวะตับวาย หรือบางคนอาจเป็นโรคธาลัสซีเมียแฝง ซึ่งจะเป็นพาหะของโรคโดยไม่รู้ตัว เพราะธาลัสซีเมียแฝงจะไม่แสดงอาการและไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่จะสามารถถ่ายทอดยีนธาลัสซีเมียไปสู่ลูกน้อยที่กำลังจะเกิดได้
พ่อแม่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย หรือเป็นโรคธาลัสซีเมียสามารถมีลูกได้ไหม ?
ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงหากเป็นโรคธาลัสซีเมีย ก็สามารถมีลูกได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนวางแผนการตั้งครรภ์ เพื่อรับการตรวจคัดกรองของโรค และวางแผนการดูแลสุขภาพให้เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งยังเป็นการป้องกันการส่งต่อโรคธาลัสซีเมียไปสู่ลูกน้อย
โดยสามารถแบ่งโรคธาลัสซีเมียที่อาจเกิดในทารกออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่
- แอลฟ่า-ธาลัสซีเมีย (Alpha-Thalassemia)
เป็นธาลัสซีเมียชนิดที่ค่อนข้างรุนแรง สามารถก่อให้เกิดผลกระทบกับการสร้างฮีโมโกลบินและเม็ดเลือดแดงโดยตรง ทำให้เกิดภาวะซีดและภาวะบวมน้ำของทารก ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือเสียชีวิตหลังคลอดได้
- เบต้า-ธาลัสซีเมีย (Beta-Thalassemia)
เป็นธาลัสซีเมียชนิดที่มีความรุนแรงน้อยกว่าแอลฟ่าธาลัสซีเมีย โดยมักจะเริ่มมีอาการหลังคลอดไปแล้ว ทำให้มีอาการตัวเหลืองซีด ซึ่งเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของฮีโมโกลบินทำให้ต้องได้รับเลือดตั้งแต่เด็ก
โดยความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันไปตามประเภทและจำนวนยีนธาลัสซีเมียที่ได้รับจากพ่อแม่ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคู่รักจึงควรเข้ารับการตรวจหาธาลัสซีเมียก่อนวางแผนมีบุตร เพื่อตรวจสอบว่าใครเป็นพาหะ และหาแนวทางที่เหมาะสมในการมีบุตรต่อไป
โอกาสการเกิดโรคธาลัสซีเมียในทารก
เนื่องจากธาลัสซีเมียเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย จึงทำให้เกิดคำถามว่าหากเป็นพาหะธาลัสซีเมียทั้งคู่มีลูกได้ไหม หรือหากคนหนึ่งเป็นโรคและคนหนึ่งเป็นพาหะธาลัสซีเมียจะมีลูกได้ไหม มีความเสี่ยงที่เด็กจะเกิดมาเป็นโรคธาลัสซีเมียมากน้อยแค่ไหน
ซึ่งเราสามารถแยกเป็นอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคได้ ดังนี้
- กรณีที่พ่อหรือแม่เป็นโรคและอีกฝ่ายเป็นพาหะ
- โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคเท่ากับ 50%
- โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะเท่ากับ 50%
- กรณีที่พ่อหรือแม่มียีนแฝงหรือเป็นพาหะเพียงฝ่ายเดียว
- โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะเท่ากับ 50%
- โอกาสที่ลูกจะเป็นปกติเท่ากับ 50%
- กรณีที่พ่อแม่เป็นพาหะธาลัสซีเมียทั้งคู่
- โอกาสที่ลูกจะเป็นปกติเท่ากับ 25%
- โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะเท่ากับ 50%
- โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคเท่ากับ 25%
การตรวจหาพาหะธาลัสซีเมีย
สำหรับคู่รักที่ไม่ได้เป็นโรคธาลัสซีเมีย แต่ต้องการตรวจเพื่อหาพาหะเพื่อความอุ่นใจในการมีบุตร สามารถทำได้โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาความผิดปกติของยีน ด้วยวิธีดังนี้
การตรวจคัดกรอง
เป็นการตรวจที่ง่ายและรวดเร็ว โดยใช้หลักการวัดค่าความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงและค่าความเข้มข้นของฮีโมโกลบินชนิดต่าง ๆ แต่จะไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นพาหะชนิดใด
การตรวจชนิดฮีโมโกลบิน
เป็นการตรวจเพื่อแยกแยะชนิดของฮีโมโกลบินที่ผิดปกติ ซึ่งหากพบความผิดปกติก็อาจบ่งชี้ได้ถึงพาหะธาลัสซีเมีย รวมถึงสามารถแยกได้ว่าเป็นธาลัสซีเมียชนิดใด
การตรวจยีนธาลัสซีเมีย
เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของยีนธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นการตรวจที่แม่นยำที่สุด โดยสามารถใช้ยืนยันผลการตรวจชนิดของฮีโมโกลบินได้
สำหรับคู่รักที่มีผลการตรวจบ่งชี้ว่าเป็นโรคธาลัสซีเมียจะต้องรับคำแนะนำและแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อยที่จะเกิดมาในอนาคต
ในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคธาลัสซีเมียในลูกน้อย คู่รักจำเป็นต้องได้รับการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยวิธีการเจาะเลือดเพื่อหายีนแฝง หากพบว่าลูกมีโอกาสเป็นโรคนี้ แพทย์จะให้คำปรึกษา และวางแผนการมีลูกอย่างปลอดภัยต่อไป
หลาย ๆ คู่รักที่เป็นกังวลว่า หากเป็นโรคธาลัสซีเมียจะสามารถมีลูกได้ไหมคงได้คำตอบกันไปแล้ว แต่หากใครต้องการเสริมความมั่นใจให้กับการตั้งครรภ์ และเพิ่มความปลอดภัยในการมีบุตร สามารถเข้ารับการตรวจโครโมโซมตัวอ่อนได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร เพื่อให้สามารถวางแผนการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้อง และช่วยให้ลูกน้อยที่จะเกิดมาในอนาคตมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline : 082-903-2035
Line : @vfccenter
บทความโดยนายแพทย์วรวัฒน์ ศิริปุณย์
แหล่งอ้างอิง
- Thalassemia – Causes. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 จาก https://www.nhlbi.nih.gov/health/thalassemia/causes
- Thalassaemia. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 จาก https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/thalassaemia
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.