เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

รู้จักสาเหตุที่ทำให้มีลูกยาก ปัญหาหนักใจของคู่รักอยากมีลูก

สาเหตุที่ทำให้มีลูกยาก ปัญหาหนักใจของคู่รักที่อยากมีลูก

มีคู่รักหลาย ๆ คู่ ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ชวนหนักใจ เพราะเกิดภาวะมีลูกยาก ซึ่งถึงแม้จะอยากมีลูกและพยายามด้วยวิธีธรรมชาติมานาน แต่ก็ยังไม่สามารถมีลูกได้อย่างที่ใจหวัง สำหรับคู่รักที่พยายามมีบุตรมาเป็นปีแต่ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ เกิดขึ้น มาหาคำตอบเกี่ยวกับความเสี่ยง สาเหตุ และการตรวจหาภาวะมีบุตรยากได้ในบทความนี้กันได้เลย

ภาวะมีบุตรยากคืออะไร ?

ภาวะมีบุตรยากคือภาวะที่คู่รักพยายามมีลูก แต่มีลูกยากและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้สำเร็จ แม้จะพยายามมากว่า 1 ปีขึ้นไปด้วยวิธีธรรมชาติ โดยอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติหรือภาวะสุขภาพของคู่รัก โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้มีการเผยถึงสถิติว่า คู่สมรสที่มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ โดยที่ไม่มีการคุมกำเนิดสามารถเกิดภาวะมีบุตรยากได้ถึงร้อยละ 15 เลยทีเดียว

ความเสี่ยงภาวะมีบุตรยาก

ภาวะมีลูกยากนั้นสามารถพบได้ในคู่รักทุกช่วงอายุ แต่จะพบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มคู่รักที่ฝ่ายหญิงมีอายุมากขึ้นเนื่องจากคุณภาพและปริมาณของไข่จะลดลง โดยความเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยากนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป และเพิ่มเป็น 3 เท่าเมื่อฝ่ายหญิงมีอายุ 40 ปีขึ้นไป

นอกเหนือจากอายุแล้ว ภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคประจำตัว อย่างโรคหัวใจ เบาหวาน ไทรอยด์ และโรคตับ หรือภาวะน้ำหนักมาก หรือต่ำกว่ามาตรฐาน และเรื่องพันธุกรรมจากคนในครอบครัวที่มีบุตรยาก รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และการเสพสารเสพติด ก็มีผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยากด้วยเช่นกัน

สาเหตุภาวะมีบุตรยาก

สาเหตุของการมีลูกยากสามารถเกิดได้ทั้งฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง หรือทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาจเกิดได้จากสาเหตุ ดังนี้

สาเหตุมีลูกยากจากฝ่ายหญิง

ปัญหาการมีลูกยาก สามารถเกิดขึ้นได้จากความผิดปกติของฝ่ายหญิง ซึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มีดังต่อไปนี้

  • ความผิดปกติของฮอร์โมน ส่งผลต่อการตกไข่และการตั้งครรภ์ เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน โกนาโดโทรฟิน ฮอร์โมน LH, FSH, CRH, และอื่น ๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ภาวะระดับโปรแลคตินในเลือดสูง (Hyperprolactinemia) มีถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS : Polycystic ovarian syndrome) และภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง (Chronic Anovulation)
  • ความผิดปกติของท่อนำไข่ เช่น ท่อนำไข่อุดตัน บิดตัว หรือมีเนื้องอกในท่อนำไข่ เนื่องจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ภาวะติดเชื้อในครรภ์หลังคลอด รวมถึงการผ่าตัดช่องท้องและอุ้งเชิงกราน  
  • ความผิดปกติของมดลูก เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก มดลูกอักเสบ มีติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้อในโพรงมดลูก พังผืดในโพรงมดลูก และอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือเคยผ่านการติดเชื้อและมีการอักเสบมาก่อน  
  • ความผิดปกติบริเวณปากมดลูก ที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือเคยมีภาวะปากมดลูกฉีดขาด อักเสบ จนเกิดเป็นพังผืดบริเวณปากมดลูก ซึ่งอาจทำให้อสุจิไม่สามารถเข้าไปผสมกับไข่ได้

สาเหตุมีลูกยากจากฝ่ายชาย

ในส่วนของสาเหตุการมีลูกยากในฝ่ายชาย สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังต่อไปนี้

  • ความผิดปกติของอสุจิ ได้แก่
    • อสุจิไม่แข็งแรง ทำให้ความสามารถในการเคลื่อนที่น้อยกว่าปกติ
    • จำนวนอสุจิในน้ำเชื้อน้อยกว่าปกติ
    • อสุจิมีรูปร่างผิดปกติทำให้อสุจิไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้
  • ท่อนำน้ำเชื้ออสุจิตีบตัน เนื่องจากเคยติดเชื้อหรือเกิดการอักเสบ ทำให้อสุจิไม่สามารถเคลื่อนที่ออกมาจากท่อนำน้ำเชื้อได้ 
  • โรคทางพันธุกรรม และภาวะเจริญพันธุ์บางอย่าง ที่ส่งผลต่อการผลิตอสุจิให้ลดน้อยลง หรืออสุจิไม่มีคุณภาพ
  • ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนผิดปกติ ทำให้ผลิตอสุจิที่มีคุณภาพได้ลดน้อยลง  

การตรวจหาภาวะมีบุตรยาก

การตรวจหาภาวะมีบุตรยากในฝ่ายหญิง

  • ประเมินจากความปกติของรอบเดือน
  • การตรวจระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เอสโตรเจน, โปรเจสเตอโรน, FSH, LHและ TSH
  • การตรวจการตกไข่ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่นการตรวจอัลตราซาวนด์
  • การตรวจความปกติของท่อนำไข่ด้วยการฉีดสีตรวจท่อนำไข่ หรือการส่องกล้องตรวจท่อนำไข่
  • การตรวจความปกติในด้านรูปร่าง เนื้องอก และพังผืดในมดลูก โดยการตรวจอัลตราซาวนด์ หรือการส่องกล้องตรวจมดลูก
  • การตรวจหาการติดเชื้อ และความผิดปกติอื่น ๆ ของมดลูก

การตรวจหาภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย

  • การตรวจน้ำเชื้อเพื่อตรวจความสมบูรณ์ จำนวน ความแข็งแรง และรูปร่างของอสุจิ
  • การตรวจความปกติของฮอร์โมนเพศชายที่ส่งผลต่อการสร้างอสุจิ
  • การตรวจอัณฑะเพื่อหาการติดเชื้อหรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น การมีเส้นเลือดขอดที่อัณฑะ เป็นต้น

คู่รักที่มีลูกยาก อยากมีลูกเร็วต้องทำอย่างไร ?

  • วางแผนตั้งครรภ์ตั้งแต่ในช่วงอายุที่เหมาะสม

การวางแผนตั้งครรภ์ในช่วงอายุที่เหมาะสมถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้สามารถมีบุตรได้อย่างที่ตั้งใจ โดยเฉพาะผู้หญิงควรวางแผนมีบุตรก่อนอายุ 35 ปี เนื่องจากภาวะเจริญพันธุ์จะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น การเริ่มวางแผนมีบุตรเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงของการมีลูกยากได้

  • รู้วิธีนับวันตกไข่

การรู้จักรอบเดือนและช่วงตกไข่ของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ โดยสามารถใช้วิธีนับวันหรือใช้ชุดตรวจ เพื่อระบุวันตกไข่ เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้จะเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น 

  • มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ

การมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์ทุก 2-3 วัน โดยเฉพาะในช่วง 5 วันก่อนและวันที่ตกไข่ควรมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อยวันเว้นวัน

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

สุขภาพที่ดีมีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ครั้งละประมาณ 30 นาที อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์
    • ลดความเครียด ด้วยการทำสมาธิหรือกิจกรรมผ่อนคลาย
    • งดหรือลดการบริโภคคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และบุหรี่
  • ปรึกษาแพทย์

หากพยายามมีบุตรมานานกว่า 1 ปีแล้วยังไม่สำเร็จ  ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม แต่ในบางกรณีควรปรึกษาเลยเมื่อต้องการมีบุตร ได้แก่ฝ่ายหญิงอายุมากกว่า 40 ปี หรือเคยผ่าตัดรังไข่หรือท่อนำไข่ หรือมีความเสี่ยงอื่น เช่นภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย แพทย์อาจแนะนำการรักษาต่าง ๆ เช่น การกินยากระตุ้นการตกไข่ หรือเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อื่น ๆ

ตรวจหา และรักษาภาวะมีลูกยากโดยแพทย์เฉพาะทางที่ VFC Center

สำหรับคู่รักที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะมีลูกยาก และอยากมีลูก สามารถเข้ามาปรึกษากับศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร VFC Center เราพร้อมให้บริการโดยสูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ครอบคลุมทั้งการให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาคู่สมรสที่เผชิญปัญหามีบุตรยาก รวมถึงคู่สมรสที่ต้องการวางแผนมีลูกน้อยอย่างปลอดภัย

ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่

VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร

Hotline : 082-903-2035

Line : @vfccenter

บทความโดย แพทย์วนากานต์ สิงหเสนา

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.