เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

อาการท้องนอกมดลูกเกิดจากอะไร ลดความเสี่ยงได้อย่างไร ?

ผู้หญิงมาหาแพทย์เพราะสงสัยว่าตั้งครรภ์นอกมดลูก

การตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่น่ายินดีสำหรับผู้หญิงหลายคน แต่บางครั้งอาจมาพร้อมการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่คาดคิด อย่าง “การตั้งครรภ์นอกมดลูก” ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของคุณแม่ผู้ตั้งครรภ์ได้อีกด้วย บทความนี้จึงจะพาไปรู้จักการท้องนอกมดลูกให้แน่ชัดว่า ท้องนอกมดลูกเกิดจากอะไร จะสามารถมีลูกได้ไหม และจะลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีใดบ้าง

การตั้งครรภ์นอกมดลูกคืออะไร ?

การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) หรือที่หลายคนเรียกว่า อาารท้องนอกมดลูก คือ ภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิฝังตัวนอกโพรงมดลูก ซึ่งตามปกติแล้ว ตัวอ่อนควรเคลื่อนที่ผ่านท่อนำไข่และฝังตัวในโพรงมดลูกเพื่อเจริญเติบโต แต่ในกรณีที่ตัวอ่อนฝังตัวผิดที่ โดยไปฝังตัวในบริเวณอื่นนอกโพรงมดลูก ส่วนใหญ่มักพบในท่อนำไข่ รองลงมาคือรังไข่ ปากมดลูก และช่องท้อง 

การตั้งครรภ์นอกมดลูกส่งผลให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ และอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่ผู้ตั้งครรภ์ หากตัวอ่อนเติบโตจนทำให้ท่อนำไข่แตก จะเกิดการเสียเลือดและตกเลือดในช่องท้อง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ท้องนอกมดลูกเกิดจากอะไร ?

การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน

การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานจะทำให้เกิดพังผืด การอักเสบ หรือเกิดภาวะตีบตันที่ท่อนำไข่ ส่งผลทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเคลื่อนที่ไปฝังตัวในโพรงมดลูกได้ทันเวลา จึงเกิดการฝังตัวนอกโพรงมดลูก

ฮอร์โมนไม่สมดุล

ฮอร์โมนเพศหญิงมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนที่ของตัวอ่อน หากฮอร์โมนไม่สมดุล อาจส่งผลต่อการบีบตัวของท่อนำไข่ ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเคลื่อนที่ไปฝังตัวในโพรงมดลูกได้ ซึ่งมักจะพบได้สูงขึ้นเมื่อมีการตั้งครรภ์ในช่วงที่ทานยาคุมฉุกเฉิน

ความผิดปกติทางโครงสร้างของท่อนำไข่

เมื่อเกิดความผิดปกติ เช่น ท่อนำไข่ตีบ ท่อนำไข่ผิดรูป รวมถึงเคยได้รับการผ่าตัดที่ท่อนำไข่มาก่อน เช่น การผ่าตัดแก้หมัน หรือการผ่าตัดรักษาท้องนอกมดลูกโดยไม่ได้ตัดท่อนำไข่ออก ย่อมส่งผลทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเคลื่อนที่ไปฝังตัวในโพรงมดลูกได้ จึงเกิดเป็นความเสี่ยงในการตั้งครรภ์นอกมดลูก

อายุ

คุณแม่ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป อาจมีความเสี่ยงจากการที่อวัยวะในระบบสืบพันธุ์เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การมีเนื้องอก หรือมีประสิทธิภาพทำงานลดลง

 

ผู้หญิงปวดท้องเพราะอาจเกิดสัญญาณอาการท้องนอกมดลูก

 

สัญญาณเตือนของอาการท้องนอกมดลูก

อาการของภาวะท้องนอกมดลูกอาการ อาจมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล โดยมีสัญญาณเตือนที่พบได้บ่อย ดังนี้

  • ปวดท้องน้อย มักเป็นอาการแรก ๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะเกิดอาการปวดข้างเดียวในตำแหน่งที่ตัวอ่อนฝังตัว และอาจร้าวไปยังบริเวณสะโพก ต้นขา หรือไหล่
  • ปวดไหล่ ปวดคอ ซึ่งอาจรวมถึงหลังส่วนล่างและบริเวณทวารหนัก
  • เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด มีสีน้ำตาล ชมพู หรือแดงสด มักมีปริมาณน้อยกว่าประจำเดือน
  • หน้ามืด เป็นลม อาจเกิดจากภาวะเลือดออกภายในช่องท้อง
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง อาจเกิดจากท่อนำไข่แตก ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงชีวิต

ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ ที่กล่าวมานี้เลย แต่แพทย์จะสามารถตรวจพบความผิดปกติได้จาก

  • การตรวจอัลตราซาวด์ ไม่พบถุงการตั้งครรภ์ภายในโพรงมดลูก เมื่อตั้งครรภ์ได้ 5 สัปดาห์เป็นต้นไป
  • การตรวจระดับฮอร์โมน hCG มีระดับฮอร์โมน hCG สูงกว่า 2,000-2,500 แต่ตรวจไม่พบถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก

วิธีลดความเสี่ยง และป้องกันการท้องนอกมดลูก

แม้ว่าการตั้งครรภ์นอกมดลูกจะไม่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย 

การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานที่จะมีผังผืดทำให้ท่อนำไข่ผิดรูป จนส่งผลต่อการเคลื่อนที่ของตัวอ่อนทำให้เกิดการฝังตัวในตำแหน่งที่ผิดปกติ

รักษาสุขภาพให้แข็งแรง

การดูแลรักษาสุขภาพเป็นอย่างดี ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ทำให้ระบบฮอร์โมนทำงานสมดุล ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ซึ่งเป็นผลดีต่อการตั้งครรภ์ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงการท้องนอกมดลูกได้

สังเกตอาการขณะตั้งครรภ์

คุณแม่ที่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ควรสังเกตอาการของตัวเองอยู่เป็นประจำ หากพบอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง เลือดออก คลื่นไส้ อาเจียน ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทาง รวมทั้งรับการตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อหาแนวทางรักษาและวินิจฉัยแต่แรกก่อนมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อคุณแม่ผู้ตั้งครรภ์

ท้องนอกมดลูกสามารถมีลูกได้ไหม ?

การตั้งครรภ์นอกมดลูกไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ เนื่องจากตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตได้นอกมดลูก การท้องนอกมดลูกจึงเปรียบเสมือนการแท้ง อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ต้องการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไป ก็สามารถทำได้ แต่ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะผู้ที่เคยตั้งครรภ์นอกมดลูกมาแล้วมีโอกาสเกิดซ้ำได้สูงกว่าปกติ

สำหรับผู้ที่กำลังเตรียมตัวเป็นคุณแม่มือใหม่ หลายคนอาจเกิดความกังวลใจและเริ่มมองหาตัวเลือกในการวางแผนตั้งครรภ์อย่างสมบูรณ์ เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของตนเองและลูกน้อย โดยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีเพิ่มโอกาสในการมีลูก ด้วยการทํา ICSI ซึ่งหากสงสัยว่าควรทำที่ไหนดี ? สามารถมาปรึกษาสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร ที่ให้บริการครอบคลุม ทั้งให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาคู่รักที่ประสบปัญหามีบุตรยาก ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติการได้มาตรฐานระดับสากล

บทความโดย แพทย์วนากานต์ สิงหเสนา

ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่

VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร

Hotline : 082-903-2035

Line : @vfccenter

ข้อมูลอ้างอิง: 

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.