มดลูกต่ำ มดลูกหย่อนมีลูกได้ไหม? คงเป็นคำถามคาใจว่าที่คุณแม่ ที่กำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ดังนั้นเพื่อช่วยทำความเข้าใจในเรื่องภาวะมดลูกต่ำและมดลูกหย่อนคล้อยให้มากขึ้นเพื่อตอบข้อสงสัยและคลายความวิตกกังวลนี้ เราจะพาไปทำความรู้จักกับภาวะนี้กันให้มากขึ้น และเข้าใจถึงผลกระทบของภาวะมดลูกหย่อนที่มีต่อการตั้งครรภ์ พร้อมแนวทางในการรักษามาแนะนำกัน
1. ภาวะมดลูกต่ำกับการตั้งครรภ์
หากถามว่าผู้หญิงที่มีภาวะมดลูกหย่อน มดลูกต่ำท้องได้ไหม? ตอบได้เลยว่าผู้หญิงที่มดลูกหย่อนหรือมดลูกต่ำสามารถตั้งครรภ์ได้เป็นปกติ และภาวะมดลูกต่ำ มดลูกหย่อน ไม่ได้ทำให้มีลูกยากเสมอไป เนื่องจากตำแหน่งของมดลูกนั้นไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการปฏิสนธิของไข่ และอสุจิ อีกทั้งภาวะมีบุตรยากนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของไข่ คุณภาพของอสุจิ และอื่น ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตามภาวะมดลูกหย่อนหรือมดลูกต่ำนั้น อาจทำให้เกิดผลกระทบบางอย่าง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ เช่น อัตราการแท้งบุตรสูงขึ้น หรือการคลอดก่อนกำหนด ดังนั้นหากมีภาวะเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเตรียมความพร้อม วางแผนจะตั้งครรภ์ และรับการดูแลอย่างใกล้ชิด
2. มดลูกต่ำ เกิดจากอะไร
มดลูก เป็นอวัยวะสำคัญในการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ซึ่งภายในอุ้งเชิงกรานจะมีกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อที่ยึดอวัยวะอย่างมดลูกให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง แต่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเหล่านี้อาจอ่อนแรงลง และทำให้มดลูกตกลงมาอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าปกติได้ ด้วยสาเหตุที่พบบ่อยเหล่านี้
การตั้งครรภ์และการคลอด
การตั้งครรภ์และการคลอดลูกทางช่องคลอด เนื่องจากในระหว่างการตั้งครรภ์และคลอด กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานจะขยายตัวออกเพื่อรองรับทารก และเมื่อคลอดแล้วกล้ามเนื้อเหล่านั้นอาจไม่กลับสู่สภาพเดิมได้อย่างสมบูรณ์
น้ำหนักตัวเยอะ
น้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะก่อให้เกิดแรงกดทับบริเวณท้องและอุ้งเชิงกราน ทำให้มดลูกค่อย ๆ ตกลงมาจากตำแหน่งปกติ และเกิดเป็นภาวะมดลูกต่ำ หรือมดลูกหย่อนได้
อายุมากขึ้น
เมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนในร่างกายจะลดลง ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณอุ้งเชิงกราน กล้ามเนื้อมดลูก และกล้ามเนื้อรอบ ๆ อ่อนแอลงตามไปด้วย ทำให้เกิดภาวะมดลูกหย่อนได้
ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
ปัญหาสุขภาพ เช่น ท้องผูก เนื้องอกในมดลูก หรือการไอรุนแรงและเรื้อรัง ล้วนก่อให้เกิดแรงดันบริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ และมดลูกค่อย ๆ ร่วงหย่อนลงมาจากตำแหน่งเดิมได้เช่นกัน
3. อาการของคนที่มีมดลูกต่ำ
ในระยะแรก ผู้หญิงที่มีมดลูกต่ำอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อมดลูกตกลงมาต่ำมากขึ้น อาจเริ่มมีอาการดังนี้
- รู้สึกหน่วงตึงบริเวณอุ้งเชิงกราน บริเวณท้องน้อย หรือบริเวณช่องคลอด
- ปวดหลัง ปวดขา หรือรู้สึกชาบริเวณอวัยวะเพศ
- ปัสสาวะไม่สุด หรือไม่สามารถยั้งปัสสาวะได้
- เจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรืออาจมีอาการปวดท้องน้อยหลังมีเพศสัมพันธ์
- มีก้อนนูนหรือแน่นที่อวัยวะเพศ จากการที่มดลูกต่ำลงมา
4. วิธีการรักษา
ภาวะมดลูกหย่อน มดลูกต่ำ สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมดลูก อายุ และความต้องการมีลูก เช่น
- การใส่อุปกรณ์พยุงมดลูก เพื่อช่วยให้มดลูกกลับสู่ตำแหน่งปกติ เช่น ห่วงมดลูก ซึ่งวิธีการนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการมีลูกแล้ว
- การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะมดลูกต่ำรุนแรง โดยจะเป็นการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อส่วนอื่นหรือเนื้อเยื่อสังเคราะห์มาปะเนื้อเยื่ออุ้งเชิงกรานส่วนที่สึกหรอ หรือในกรณีที่ไม่ต้องการมีลูกแล้วแพทย์อาจแนะนำให้การผ่าตัดมดลูกออกก็ได้
- การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อยึดเหนี่ยวกล้ามเนื้อในบริเวณนั้นให้แข็งแรงดังเดิม เหมาะกับกรณีที่มีภาวะหย่อนตัวไม่รุนแรง
5. วิธีป้องกันภาวะมดลูกหย่อน มดลูกต่ำ
บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน และป้องกันภาวะมดลูกหย่อนได้
รักษาอาการป่วยเรื้อรัง
การรักษาอาการป่วยเรื้อรังอย่างการไอเรื้อรัง หรือท้องผูกเป็นประจำ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดแรงดันบริเวณอุ้งเชิงกราน เป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะมดลูกหย่อน การรักษาอาการเหล่านี้ให้หายจะช่วยลดความเสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้
เลี่ยงยกของหนัก
หากต้องการหลีกเลี่ยงแรงดันบริเวณอุ้งเชิงกราน การเลี่ยงยกของหนักก็เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ควรทำ เนื่องจากการออกแรงยกของหนัก ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะมดลูกหย่อนได้
ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ในร่างกายแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และลดความเสี่ยงการเกิดภาวะมดลูกหย่อนได้อีกด้วย
ทั้งหมดนี้คงช่วยตอบคำถามให้คุณแล้วว่ามดลูกต่ำทำให้มีลูกยากไหม? หวังว่าบทความนี้จะช่วยคลายความกังวลได้แล้วว่าภาวะมดลูกต่ำ มดลูกหย่อน ไม่ได้ทำให้มีลูกยากแต่อย่างใด และช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ที่ต้องการสร้างครอบครัวได้มากขึ้น ซึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการทำอิ๊กซี่ (ICSI) เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีลูก มาปรึกษาสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร ซึ่งให้บริการครอบคลุม ทั้งการให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาคู่รักที่ประสบปัญหามีบุตรยากจากสาเหตุต่าง ๆ ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติการได้มาตรฐานระดับสากล
บทความโดย แพทย์หญิงวนากานต์ สิงหเสนา
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline : 082-903-2035
Line : @vfccenter
ข้อมูลอ้างอิง:
- มดลูกหย่อนหรือมดลูกต่ำ. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 จาก https://www.pobpad.com/มดลูกหย่อนหรือมดลูกต่ำ
- มดลูกต่ำ สาเหตุ อาการ การรักษา. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 จาก https://hellokhunmor.com/สุขภาพทางเพศ/มดลูกต่ำ-สาเหตุ-อาการ-การรักษา/
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.