การมีลูกแฝดเป็นความฝันของคู่แต่งงานหลายคู่ เพราะมองว่าจะได้ตั้งท้องทีเดียว และเลี้ยงลูกให้โตไปพร้อมกันเลย รวมถึงเหล่าเซเลปคนดังต่างนิยมหันมามีลูกแฝดกันมากขึ้น ทำให้การมีลูกแฝดกลายเป็นสิ่งที่คู่รักหลาย ๆ คู่ต้องการ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการจะมีลูกแฝดตามธรรมชาตินั้นมีโอกาสน้อยมาก แต่ที่ยากกว่าคือการดูแลครรภ์แฝด เพราะมีความเสี่ยงมากกว่าการตั้งครรภ์แบบทั่วไป
เพื่อให้ว่าที่คุณแม่เข้าใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์แฝดมากขึ้น เราจะพาไปทำความเข้าใจกันว่าลูกแฝดเกิดจากอะไร และถ้าอยากท้องแฝด แต่ไม่มีกรรมพันธุ์ จะเป็นไปได้ไหม หรือต้องทำอย่างไรบ้าง ตามไปไขคำตอบพร้อมกันที่นี่เลย
ลูกแฝดเกิดจากอะไร ?
การตั้งครรภ์แฝด คือการตั้งครรภ์โดยมีทารกอยู่ในครรภ์มากกว่า 1 คนขึ้นไป โดยการมีลูกแฝด เกิดขึ้นได้ด้วยกัน 2 แบบ คือ
- แฝดแท้ เกิดจากไข่ใบเดียวและอสุจิตัวเดียวกัน โดยหลังจากที่เกิดการปฏิสนธิแล้ว ตัวอ่อนจะฝังตัวที่มดลูก และแบ่งตัวอ่อนขึ้นมาอีก 1 ตัว จึงทำให้มีลักษณะภายนอก และลักษณะของพันธุกรรมเหมือนกัน
- แฝดเทียม เกิดจากการที่มีไข่ตกมากกว่า 1 ใบ และไข่แต่ละใบนั้นก็ได้รับการปฏิสนธิจากอสุจิ 1 ตัว แล้วจึงฝังตัวอ่อนในมดลูกพร้อม ๆ กัน ซึ่งหน้าตาของแฝดเทียมจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่จะมีความคล้ายกันเหมือนเป็นพี่น้อง และยังเป็นได้ทั้งเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ได้
ข้อดี-ข้อจำกัดของการตั้งครรภ์แฝด
ถึงแม้ในปัจจุบันคู่แต่งงานจะนิยมมีลูกฝาแฝดกันมากขึ้น แต่คงต้องยอมรับว่าการตั้งครรภ์แฝดนั้นมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ที่ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรต้องรู้ไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อดีของการตั้งครรภ์แฝด
- คุณแม่ตั้งครรภ์เพียงครั้งเดียว ก็สามารถมีลูกได้มากกว่า 1 คน
- เลี้ยงลูกทีเดียวพร้อมกัน ไม่ต้องเหนื่อยหลายรอบ
- มีลูกวัยเดียวกัน ลูกจะได้สนิทสนมกันมากขึ้น
ข้อจำกัดของการตั้งครรภ์แฝด
- เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าการตั้งครรภ์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการแพ้ท้องรุนแรง ความดันโลหิตสูง ภาวะรกต่ำ ครรภ์เป็นพิษ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ และโลหิตจาง
- เสี่ยงต่อการเกิดภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด รวมถึงการแท้ง หรืออาจตกเลือดอย่างหนักหลังคลอดได้
ปัจจัยที่เพิ่มโอกาสการมีลูกแฝดตามธรรมชาติ
เชื้อชาติ
ในบางเชื้อชาติมีแนวโน้มที่จะมีลูกแฝดได้ง่ายกว่า อย่างเช่น ชาวแอฟริกัน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ลูกแฝด ได้มากกว่าชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กรรมพันธุ์
การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นลูกแฝด โดยเฉพาะทางสายแม่หรือยาย ย่อมเพิ่มโอกาสมีลูกแฝดได้มากขึ้น
ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก
หากฝ่ายหญิงตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35 ปี มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้สูงกว่า เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะมีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงกว่าวัยอื่น ซึ่งส่งผลให้ตกไข่มากกว่าหนึ่งใบในแต่ละรอบเดือน
น้ำหนักตัว
การที่คุณแม่มีน้ำหนักตัวมาก (ดัชนีมวลกายมากกว่า 30) และรูปร่างที่ค่อนข้างสูง จะมีโอกาสในการตั้งครรภ์ลูกแฝดได้มากกว่า
การหยุดกินยาคุม
ในส่วนของผู้หญิงที่เคยคุมกำเนิดด้วยการรับประทานยาคุมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หากหยุดรับประทานยาคุม ก็มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ลูกแฝดได้มากขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนที่ถูกกดไว้ด้วยยาคุม จะถูกปลดปล่อยออกมา และกระตุ้นให้ไข่ตกมากกว่า 1 ใบ
รับประทานอาหารบำรุงไข่และอสุจิ
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยบำรุงไข่และอสุจิให้มีคุณภาพดี ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้มีลูกแฝดได้
- อาหารบำรุงไข่ เช่น ไข่ น้ำเต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว ถั่วต่าง ๆ ข้าวไม่ขัดสี ปลาทะเล หอยนางรม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี และอะโวคาโด
- อาหารบำรุงอสุจิ เช่น ไข่ ถั่ว หอยนางรม เนื้อวัว กล้วย และมะเขือเทศ
รับประทานยาบำรุง
การรับประทานยาบำรุงการตกไข่ เช่น กรดโฟลิก โกนาโดโทรฟินฮอร์โมน และโปรเจสเตอโรนฮอร์โมน สามารถกระตุ้นให้มีการตกไข่ได้มากกว่าหนึ่งใบในรอบเดียวกัน ช่วยเพิ่มโอกาสมีลูกแฝดได้ แต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเนื่องจากมีผลข้างเคียงและค่าใช้จ่ายสูง
อยากท้องแฝด แต่ไม่มีกรรมพันธุ์ ทำได้ไหม ต้องทำอย่างไร ?
สำหรับคนที่ต้องการมีลูกแฝด และพยายามใช้วิธีทางธรรมชาติแต่ไม่สำเร็จ สามารถใช้วิธีทางการแพทย์เข้าช่วยได้ ซึ่งควรเข้าไปปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้รู้ถึงกระบวนการที่เหมาะสมกับตนเองที่สุด เช่น
IVF (In Vitro Fertilization)
IVF คือการผสมเชื้ออสุจิกับไข่ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ ภายในห้องปฏิบัติการ หลังจากการปฏิสนธิแล้ว จะทำการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน แล้วจึงนำกลับไปฝังในโพรงมดลูก โดยสามารถฝังตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัวเพื่อเพิ่มโอกาสมีลูกแฝดได้
ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection)
ICSI คือกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วที่คล้ายกับ IVF แต่เป็นการฉีดอสุจิเข้าไปในไข่โดยตรง เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จในการปฏิสนธิ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้สามารถฝังตัวอ่อนได้มากกว่า 1 ตัวเช่นกัน
IUI (Intrauterine Insemination)
IUI คือการนำอสุจิที่คัดเลือกและเพิ่มความเข้มข้นแล้ว ฉีดตรงเข้าสู่มดลูกในช่วงตกไข่ พร้อมกับการใช้ยากระตุ้นให้เกิดการตกไข่หลายใบ เพื่อเพิ่มโอกาสที่อสุจิจะปฏิสนธิกับไข่มากกว่า 1 ใบ และกลายเป็นการตั้งครรภ์แฝดได้
การดูแลตนเองเมื่อท้องลูกแฝด
สำหรับคู่รักที่ประสบความสำเร็จใจการตั้งครรภ์ลูกแฝดแล้ว ควรดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ลูกน้อยเกิดมาแข็งแรงสมบูรณ์ ดังนี้
ไตรมาสแรก
ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์แฝด คุณแม่ต้องคอยระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเกิดการแท้งได้ง่าย โดยต้องรีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อที่แพทย์จะได้ดูแลอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการรับประทานของหวานหรือน้ำอัดลมมากเกินไป เพราะอาจเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเบาหวานได้
ไตรมาสสอง
มาถึงในช่วงของไตรมาสสอง ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อหลัง น่อง อีกทั้งยังมีโอกาสเป็นตะคริวได้ง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินนาน ๆ และเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ รวมถึงควรประคบอุ่นหรือนวดเบา ๆ เพื่อลดอาการปวดเมื่อย และสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย
ไตรมาสสาม
สำหรับช่วงไตรมาสสาม เป็นอีกช่วงที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะเสี่ยงที่จะเกิดภาวะรกต่ำ ครรภ์เป็นพิษ หรือคลอดก่อนกำหนดได้ จึงควรเฝ้าสังเกตอาการของตนเองอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีสิ่งผิดปกติ หรือมีเลือดออกบริเวณช่องคลอด ต้องรีบพบแพทย์ทันที
ทั้งหมดนี้ คงทำให้เข้าใจเกี่ยวกับการมีลูกแฝดมากขึ้น และหากต้องการมีลูกแฝดด้วยวิธีการทำ IVF ICSI หรือ IUI สามารถสอบถามราคา และมาขอรับคำปรึกษาจากทีมแพทย์ผู้ชำนาญได้ที่คลินิกมีบุตรยาก VFC Center ที่พร้อมให้บริการครอบคลุมทั้งการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติการได้มาตรฐานระดับสากล
บทความโดยแพทย์วรวัฒน์ ศิริปุณย์
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline: 082-903-2035
LINE Official: @vfccenter
ข้อมูลอ้างอิง:
- การตั้งครรภ์แฝดไม่ง่ายอย่างที่คิด. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/การตั้งครรภ์แฝดไม่ง่าย/
- 12 วิธีทำลูกแฝด & อยากได้ลูกแฝดต้องทําอย่างไร ?. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 จาก https://medthai.com/วิธีการมีลูกแฝด/
- การตั้งครรภ์แฝด. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=399
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.