เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

ผู้ชายเป็นหมัน มีลักษณะอย่างไร ? มีสาเหตุมาจากอะไร ?

คู่รักมีความกังวลใจเพราะผู้ชายเสี่ยงเป็นหมัน

สำหรับคู่แต่งงานที่พยายามมีลูกด้วยวิธีธรรมชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเสียที ทั้งที่ฝ่ายหญิงมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ ภาวะมีบุตรยากที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากการเป็นหมันของฝ่ายผู้ชายก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้จึงควรสังเกตและทำความเข้าใจ ว่าผู้ชายเป็นหมัน มีลักษณะอย่างไร ? รวมถึงหาแนวทางในการเพิ่มโอกาสให้กับการมีลูกอย่างถูกวิธี เพื่อเติมเต็มชีวิตครอบครัวอย่างที่ใจต้องการ

สาเหตุของภาวะการเป็นหมันในฝ่ายชาย

หลายคนอาจมีความสงสัยว่าเป็นหมันเกิดจากอะไร ? โดยเฉพาะสำหรับผู้ชาย ต้องบอกว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้ชายมีภาวะเป็นหมันที่พบได้หลัก ๆ มีดังต่อไปนี้

ความผิดปกติของโครโมโซม

ความผิดปกติทางพันธุกรรมสามารถส่งผลกระทบต่อการผลิตอสุจิและการทำงานของระบบสืบพันธุ์ของผู้ชาย โดยเรียกว่ากลุ่มอาการ Klinefelter’s Syndrome ซึ่งเกิดจากการมีโครโมโซม X เกินมา ทำให้ผู้ชายมีโครโมโซมเป็น XXY แทนที่จะเป็น XY ตามปกติ ส่งผลให้มีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ต่ำและมีปัญหาในการสร้างอสุจิ

ต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ

ถ้าต่อมใต้สมองไม่สามารถที่จะผลิตฮอร์โมน FSH (Follicle-Stimulating Hormone) และ LH (Luteinizing Hormone) มากระตุ้นที่ลูกอัณฑะได้ตามปกติ จะส่งผลให้ไม่อาจผลิตอสุจิและฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนได้ตามปกติ ซึ่งนำไปสู่ภาวะการเป็นหมันได้เช่นกัน

ความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์

  • ความผิดปกติทางกายภาพของอวัยวะสืบพันธุ์ชายสามารถส่งผลต่อการผลิตและการส่งผ่านของอสุจิได้ เช่น
  • ภาวะอัณฑะไม่ลงถุง ซึ่งเป็นภาวะที่ลูกอัณฑะไม่เคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะตั้งแต่แรกเกิด
  • ภาวะหลอดเลือดขอดที่ถุงอัณฑะ ซึ่งส่งผลทำให้อุณหภูมิในถุงอัณฑะสูงขึ้นและกระทบต่อการผลิตอสุจิ
  • การอุดตันของท่อนำอสุจิ ซึ่งนำไปสู่การต้องผ่าตัดหรือการติดเชื้อ

โรคประจำตัว

ผู้ป่วยต้องรับประทานยาบางชนิด รวมถึงได้รับการฉายแสง หรือทำเคมีบำบัด มักจะมีผลข้างเคียงให้การทำงานของฮอร์โมนทางเพศลดน้อยลง อีกทั้งยังทำให้คุณภาพและปริมาณของอสุจิลดน้อยลงด้วย

ติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์

หากเคยผ่านการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ เช่น โรคหนองในหรือคลามิเดีย (Chlamydia) สามารถทำลายท่อนำอสุจิและส่งผลต่อการผลิตอสุจิได้

เคยได้รับอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ หรือระบบสืบพันธุ์ สามารถนำไปสู่ภาวะการเป็นหมันในฝ่ายชายได้

การตรวจคุณภาพอสุจิเป็นการตรวจภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย

ผู้ชายเป็นหมัน มีลักษณะอย่างไร ?

สำหรับคนที่สงสัยว่าผู้ชายเป็นหมัน มีลักษณะอย่างไร ? ต้องเข้าใจก่อนว่าภาวะความเป็นหมันของฝ่ายชาย ไม่อาจสังเกตได้ด้วยตาเปล่า แต่จำเป็นต้องมีการนำเชื้ออสุจิไปตรวจวัดคุณภาพและปริมาณ ซึ่งเมื่อผ่านการตรวจแล้ว หากมีภาวะเป็นหมันจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • ปริมาณของน้ำอสุจิ น้อยกว่า 1.5 มิลลิลิตรต่อการหลั่งหนึ่งครั้ง
  • ความเข้มข้นของอสุจิ น้อยกว่า 15 ล้านตัวต่อน้ำเชื้อหนึ่งมิลลิลิตร
  • การเคลื่อนไหวของอสุจิ โดยอสุจิมีการเคลื่อนไหวน้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนอสุจิทั้งหมด จากการหลั่งหนึ่งครั้ง
  • รูปร่างของอสุจิ โดยอสุจิที่ปกติควรมีรูปร่างรี หัวกลม ปลายแหลม และไม่มีหางขด หากพบน้อยกว่าร้อยละ 4 ของจำนวนอสุจิทั้งหมด จากการหลั่งหนึ่งครั้ง เป็นสัญญาณของภาวะเป็นหมัน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเป็นหมันของผู้ชาย

อายุ

ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความเป็นหมันได้ เนื่องจากปริมาณน้ำเชื้ออสุจิมีคุณภาพลดลง

น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน

ผู้ชายที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 25 กิโลกรัมต่อเมตร2 จะมีความผิดปกติของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า ส่งผลให้ฮอร์โมนเพศหญิงสูงขึ้น ระบบสืบพันธ์ุทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ นำไปสู่ความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้

สูบบุหรี่

เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่ มีส่วนในการเพิ่มสารอนุมูลอิสระในร่างกาย ที่ส่งผลให้เซลล์ในร่างกายอักเสบและเสื่อมสภาพ และกระทบต่อคุณภาพและปริมาณอสุจิของผู้ชาย

ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็น เหล้า เบียร์ หรือไวน์ ในปริมาณที่มากเกินไป จะส่งผลให้อสุจิไม่แข็งแรง มีรูปร่างผิดปกติ และมีการเคลื่อนไหวที่ไม่ดี

นี่คงทำให้เข้าใจกันมากขึ้นว่าผู้ชายเป็นหมันจะมีลักษณะอย่างไร สำหรับคู่แต่งงานที่ยังมีความกังวลใจว่า ฝ่ายชายมีภาวะการเป็นหมันหรือไม่ ควรเข้ารับการตรวจวัดคุณภาพอสุจิ รวมถึงยังสามารถตรวจภาวะมีบุตรยากได้ที่ คลินิกมีบุตรยาก VFC Center บริการรักษาภาวะมีบุตรยากครบวงจร ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติการได้มาตรฐานสากล

บทความโดย: แพทย์วรวัฒน์ ศิริปุณย์

ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline: 082-903-2035
LINE Official: @vfccenter

ข้อมูลอ้างอิง:
ลักษณะเสี่ยงต่อการมีบุตรยาก ที่แพทย์อยากบอก. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/พฤติกรรมเสี่ยงต่อการมี/

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.