เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

โรค APS คืออะไร เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์อย่างไร ?

ผู้หญิงตั้งครรภ์กังวลเกี่ยวกับโรค APS

การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาพิเศษสำหรับคู่รักที่อยากมีลูกน้อย แต่ว่าที่คุณแม่บางคน อาจต้องเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความกังวลถึงภาวะแท้งที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นโรค APS ซึ่งอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้

โรค APS คืออะไร เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์อย่างไร ?

โรค APS หรือ Antiphospholipid Syndrome คือโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง ที่ร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นมาเพื่อกำจัดฟอสโฟลิพิด ซึ่งเป็นสารประกอบไขมันที่พบในเยื่อหุ้มเซลล์ จนเข้าไปรบกวนระบบการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ สำหรับว่าที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ โรคนี้จะส่งผลทางลบกับทารกในครรภ์ ทำให้มีโอกาสในการแท้งลูกซ้ำติดต่อกัน หรืออาจเกิดความเสี่ยงอื่น ๆ หากยังตั้งครรภ์ต่อไป เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะรกเกาะ

 

สังเกตอาการขาบวม ที่บ่งบอกถึงโรค APS

โดยทั่วไปแล้ว ขาบวม เป็นอาการปกติที่พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ แต่หากมีอาการบวมมากกว่าปกติ ไม่ว่าจะบวมข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง ร่วมกับอาการปวด อาจบ่งบอกถึงอาการลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือด ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนของโรค APS โดยมีอาการที่ต้องระวัง ดังนี้

  • ขาบวมมากกว่าปกติ โดยอาจบวมข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง โดยมีอาการบวมจนรู้สึกแน่นตึง หรือสังเกตเห็นรอยบุ๋มบริเวณที่บวมเมื่อกดนิ้วลงไป
  • ปวดขาอย่างรุนแรง จนรู้สึกเดินไม่ไหว ซึ่งอาการปวดนี้จะแตกต่างจากอาการปวดขาปกติที่มักพบในคนท้องทั่วไป โดยอาการปวดจากลิ่มเลือดอุดตันจะรู้สึกปวดมาก โดยเฉพาะเมื่อกดบริเวณที่บวมแดง

 

การตรวจวินิจฉัยโรค APS ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์

การตรวจวินิจฉัยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันภาวะแทรกซ้อน ทำให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม โดยการวินิจฉัยโรค APS ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ จะประกอบด้วยสองขั้นตอนหลัก ดังนี้

ซักประวัติและอาการ

การซักประวัติอย่างละเอียดจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงและวางแผนการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมได้อย่างเหมาะสม เช่น

  • ประวัติการตั้งครรภ์ที่ผ่านมา
    • การแท้งบุตรโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นหลังสัปดาห์ที่ 10 ของการตั้งครรภ์
    • การคลอดก่อนกำหนดเนื่องจากภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
    • การเสียชีวิตของทารกในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ประวัติการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
    • ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เช่น Deep Vein Thrombosis (DVT) หรือ Pulmonary Embolism (PE)
    • ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • อาการที่อาจเกี่ยวข้องกับ APS
    • ปวดศีรษะรุนแรง หรือไมเกรน
    • อาการชาหรืออ่อนแรงที่แขนขา
    • ผื่นลายตาข่ายที่ผิวหนัง (Livedo reticularis)
    • เกล็ดเลือดต่ำ

เจาะเลือดส่งตรวจ

หากหลังจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรค APS แพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสารภูมิต้านทานที่ผิดปกติ (Antiphospholipid Antibodies) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของโรคนี้ โดยประกอบด้วยการตรวจหา

  • Lupus Anticoagulant (LA)
  • Anticardiolipin Antibodies (aCL) ทั้ง IgG และ IgM
  • Anti-β2 Glycoprotein I Antibodies ทั้ง IgG และ IgM

การวินิจฉัย APS จำเป็นต้องตรวจพบแอนติบอดีเหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งชนิดในระดับที่มีนัยสำคัญ และต้องตรวจพบซ้ำอีกครั้งหลังจาก 12 สัปดาห์ ซึ่งในการวินิจฉัยโรค APS ไม่ได้พิจารณาจากผลการตรวจเลือดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาประกอบกับประวัติการเจ็บป่วย อาการ รวมถึงผลการตรวจอื่น เช่น การแข็งตัวของเลือด การตรวจการทำงานของตับและไต เพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย

การวินิจฉัยตรวจโรค IPS ด้วยการเจาะเลือด

 

การรักษาโรค APS

หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรค APS ขั้นตอนต่อไปคือการดำเนินแผนการรักษาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด โดยแบ่งเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่

  • ยาฉีด 

ยาฉีดที่ใช้ในการรักษาโรค APS มักเป็นยาในกลุ่ม Low Molecular Weight Heparin (LMWH) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือด อีกทั้งยังมีความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ เนื่องจากเป็นการได้รับยาโดยไม่ผ่านรก

  • ยากิน

ยากินที่ใช้ในการรักษาโรค APS มักเป็นยาในกลุ่ม Anticoagulants ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในระยะยาว โดยการเลือกใช้ยาและขนาดยา จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ความรุนแรงของโรค ประวัติการแพ้ยา ภาวะแทรกซ้อน รวมถึงความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

 

วางแผนตั้งแต่เริ่มต้น ! เพื่อผลลัพธ์การตั้งครรภ์ที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับคุณแม่ที่เคยมีประวัติโรค APS หรือมีความเสี่ยงมาก่อน ควรรีบวางแผนการตั้งครรภ์ล่วงหน้า เพื่อป้องกันปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากจะส่งผลต่อโอกาสในการตั้งครรภ์ โดยสามารถเพิ่มความมั่นใจให้ทุกกระบวนการให้เป็นไปอย่างราบรื่นได้ ด้วยการเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) ศูนย์เฉพาะทางด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก ที่ได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีเวชแห่งประเทศไทย โดยมีบริการที่ครอบคลุมทั้งการให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัย และรักษาแก่คู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยาก ด้วยประสบการณ์การรักษาด้วยเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์มากกว่า 15 ปี โดยสูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ที่พร้อมจะให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งในขั้นตอนการฉีดยาเฉพาะ เพื่อละลายลิ่มเลือด ลดโอกาสการแท้ง ร่วมกับการตรวจโครโมโซม ให้ยาพยุงครรภ์ เพื่อช่วยให้สามารถตั้งท้อง จนคลอดได้สำเร็จ

 

บทความโดย แพทย์วรวัฒน์ ศิริปุณย์

ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่

VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร

Hotline: 082-903-2035

LINE Official: @vfccenter

ข้อมูลอ้างอิง:

โรค APS ในสตรีตั้งครรภ์. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1370

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.