สำหรับคู่สมรสที่ประสบปัญหามีบุตรยาก เทคนิค ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) เป็นหนึ่งในวิธีการที่ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ ICSI คืออะไร และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ? บทความนี้จะอธิบายรายละเอียดทุกขั้นตอนการทำ ICSI ให้ได้รู้กัน
ICSI คืออะไร ?
ICSI เป็นเทคนิคการปฏิสนธินอกร่างกายแบบหนึ่ง โดยใช้เข็มขนาดเล็กมากฉีดอสุจิเพียงตัวเดียวเข้าไปในไข่โดยตรง ซึ่งวิธีการนี้ช่วยเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิสำหรับคู่สมรสที่มีปัญหาการมีบุตรยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ฝ่ายชายมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพหรือจำนวนอสุจิ
สำหรับวิธี ICSI นั้น เป็นวิธีที่พัฒนาต่อยอดมาจากเทคโนโลยีการปฏิสนธินอกร่างกายแบบดั้งเดิม หรือ IVF ซึ่งการทำ ICSI จะสามารถช่วยแก้ปัญหาในกรณีที่อสุจิไม่สามารถเจาะเข้าไปในไข่เองได้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการมีบุตรยาก
ขั้นตอนการทำ ICSI อย่างละเอียด
1. การกระตุ้นไข่
การทำ ICSI เริ่มต้นด้วยการกระตุ้นไข่สำหรับฝ่ายหญิง โดยมีขั้นตอนดังนี้
- การตรวจประเมินสุขภาพและความพร้อมของผู้รับการรักษา
ในขั้นตอนนี้ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจเลือด และตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องเพื่อประเมินความพร้อมของรังไข่
- การใช้ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่
หลังจากนั้นฝ่ายหญิงจะได้รับฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่ เช่น ฮอร์โมน FSH (Follicle Stimulating Hormone) เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่หลายใบพร้อมกัน
- การติดตามการเจริญเติบโตของไข่ด้วยอัลตราซาวด์
เมื่อได้รับการกระตุ้นไข่แล้ว แพทย์จะติดตามการเจริญเติบโตของไข่อย่างใกล้ชิดด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องเป็นระยะ ๆ
- การฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการตกไข่
และเมื่อไข่เจริญเติบโตได้ขนาดที่เหมาะสม แพทย์จะฉีดฮอร์โมน hCG (Human Chorionic Gonadotropin) เพื่อกระตุ้นการตกไข่เป็นลำดับต่อไป
2. การเก็บไข่
หลังจากกระตุ้นไข่แล้ว กระบวนการต่อไปก็คือการเก็บไข่ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
- การเตรียมตัวก่อนเก็บไข่
ในวันก่อนเก็บไข่ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้แจ่มใส พร้อมทั้งงดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการเก็บไข่อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
- ขั้นตอนการเก็บไข่ผ่านช่องคลอดภายใต้การนำทางด้วยอัลตราซาวด์
ในขั้นตอนการเก็บไข่ แพทย์จะใช้เข็มชนิดพิเศษสอดผ่านช่องคลอดเพื่อเก็บไข่จากรังไข่ โดยใช้อัลตราซาวด์นำทางภายใต้การดมยาสลบ ซึ่งหัตถการนี้จะใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที
- การประเมินคุณภาพของไข่ที่เก็บได้
หลังเก็บไข่สำเร็จ ทีมแพทย์จะทำการตรวจสอบและประเมินคุณภาพของไข่ที่เก็บได้
3. การเตรียมอสุจิ
- การเก็บอสุจิ
สำหรับฝ่ายชาย จะต้องทำการเก็บอสุจิด้วยวิธีต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งมีอยู่ 3 วิธีหลักคือ
-
- การเก็บอสุจิด้วยวิธีปกติ ฝ่ายชายจะเก็บอสุจิด้วยวิธีการปล่อยน้ำเชื้อลงในภาชนะที่จัดเตรียมไว้ด้วยตนเอง
-
- การเก็บอสุจิด้วยวิธีพิเศษสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องอสุจิ
-
-
- การเก็บอสุจิจากอัณฑะ (TESE) ซี่งจะใช้ในกรณีที่ไม่พบอสุจิในน้ำอสุจิ โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเล็กเพื่อเก็บเนื้อเยื่อจากอัณฑะ
- การเก็บอสุจิจากท่อนำอสุจิ (PESA) ซึ่งจะใช้ในกรณีที่มีการอุดตันของท่อนำอสุจิ โดยแพทย์จะใช้เข็มดูดอสุจิจากท่อนำอสุจิโดยตรง
-
- การเตรียมอสุจิในห้องปฏิบัติการ
หลังเก็บอสุจิแล้ว ทีมแพทย์จะทำการคัดเลือกอสุจิที่มีรูปร่างและการเคลื่อนไหวที่ดีที่สุดสำหรับการทำ ICSI
4. การทำ ICSI ฉีดอสุจิเข้าในเซลล์ไข่
- การเตรียมไข่และอสุจิสำหรับการทำ ICSI
ในขั้นตอนนี้ไข่และอสุจิที่คัดเลือกแล้วจะถูกนำมาเตรียมในจานเพาะเลี้ยงพิเศษ
- ขั้นตอนการฉีดอสุจิเข้าไปในไข่ภายใต้กล้องจุลทรรศน์
ทีมแพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กมาก ฉีดอสุจิเพียงตัวเดียวเข้าไปในไข่แต่ละใบโดยตรง ภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง
- การตรวจสอบการปฏิสนธิ
หลังจากฉีดอสุจิแล้ว 16-18 ชั่วโมง จะทำการตรวจสอบการปฏิสนธิด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงอีกครั้ง
5. การเพาะเลี้ยงตัวอ่อน
หลังจากการปฏิสนธิ ตัวอ่อนจะถูกเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ โดยจะมีการดูแลและติดตามการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายในตู้เพาะเลี้ยงพิเศษนี้จะมีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นอย่างเคร่งครัด เป็นเวลา 5-6 วัน จากนั้นจะทำการประเมินคุณภาพของตัวอ่อนทุกวันโดยดูจำนวนเซลล์ ความสม่ำเสมอของการแบ่งตัว รวมถึงลักษณะทางกายภาพอื่น ๆ
6. การย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก
เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่ง จะเข้าสู่ขั้นตอนการใส่ตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกของการทำ ICSI โดยมีขั้นตอนสำคัญดังนี้
- คัดเลือกตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีที่สุดสำหรับการย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกจำนวน 1-2 ตัว
- ย้ายตัวอ่อนผ่านปากมดลูก โดยใช้สายสวนพิเศษสอดผ่านปากมดลูกเพื่อวางตัวอ่อนในโพรงมดลูก โดยไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ
- การดูแลหลังการย้ายตัวอ่อน แพทย์จะแนะนำให้พักผ่อน และหลีกเลี่ยงกิจกรรมหักโหมเป็นเวลา 1-2 วัน
7. การติดตามผลการรักษา
หลังจากย้ายตัวอ่อน จะมีการติดตามผลการตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิด ด้วยวิธีเหล่านี้
- การตรวจระดับฮอร์โมนเพื่อติดตามการตั้งครรภ์ ซึ่งจะเป็นการตรวจวัดระดับฮอร์โมน β-hCG (beta human chorionic gonodotropihin) ในเลือดหลังย้ายตัวอ่อน 8-10 วัน เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์
- การตรวจอัลตราซาวด์ยืนยันการตั้งครรภ์ หากผลการตรวจเลือดเป็นบวก จะทำการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ และดูตำแหน่งของถุงการตั้งครรภ์ ประมาณ 3-4 สัปดาห์หลังย้ายตัวอ่อน
8. การดูแลหลังรักษา
หลังยืนยันการตั้งครรภ์ จะได้รับการดูแลครรภ์อย่างใกล้ชิดในช่วง 3 เดือนแรก โดยอาจได้รับฮอร์โมนเพื่อช่วยรักษาสภาพการตั้งครรภ์ แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับสุขภาพครรภ์ของแต่ละคน
ICSI เพิ่มอัตราการตั้งครรภ์สำเร็จได้อย่างไร ?
- ช่วยแก้ปัญหาในกรณีที่อสุจิมีคุณภาพต่ำหรือมีจำนวนน้อย
ICSI ใช้อสุจิเพียงตัวเดียวที่คัดเลือกความแข็งแรงและสมบูรณ์มาแล้วในการปฏิสนธิ จึงเหมาะสำหรับผู้ชายที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพหรือจำนวนอสุจิ
- เพิ่มโอกาสการปฏิสนธิในกรณีที่เคยล้มเหลวจากการทำ IVF แบบปกติ
สำหรับคู่สมรสที่เคยทำ IVF แบบปกติไม่สำเร็จ ICSI อาจเป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มโอกาสการปฏิสนธิได้ เพราะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาการปฏิสนธิที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในกระบวนการ IVF แบบปกติ
- ช่วยให้สามารถใช้อสุจิที่เก็บด้วยวิธีพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในกรณีที่ต้องเก็บอสุจิด้วยวิธีพิเศษ เช่น TESE หรือ PESA ซึ่งมักได้อสุจิจำนวนน้อย ICSI จะช่วยให้สามารถใช้อสุจิเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
แม้ว่าจะเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้ แต่ความสำเร็จของการทำ ICSI ก็ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุของผู้รับการรักษา สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก รวมถึงคุณภาพของไข่และอสุจิ ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี
การทำ ICSI เป็นเทคนิคที่ซับซ้อนและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญสูง หากคุณกำลังพิจารณาว่าจะทำ ICSI ที่ไหนดี เราขอแนะนำให้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญที่ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) ศูนย์เฉพาะทางด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก ที่ได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีเวชแห่งประเทศไทย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยที่ เบอร์โทรศัพท์ 082-903-2035
บทความโดย แพทย์วรวัฒน์ ศิริปุณย์
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline: 082-903-2035
LINE Official: @vfccenter
ข้อมูลอ้างอิง:
- Intracytoplasmic sperm injection (ICSI). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 จาก https://www.hfea.gov.uk/treatments/explore-all-treatments/intracytoplasmic-sperm-injection-icsi/ v
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.