เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

กระบวนการปฏิสนธิ พร้อมเคล็ดลับเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์

กราฟิกแสดงให้รู้ว่าการปฏิสนธิเกิดขึ้นเมื่อใด

การเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการปฏิสนธิ จะช่วยให้คู่แต่งงานสามารถวางแผนมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงกระตุ้นการปฏิสนธิได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสให้การตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จ สู่การสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์อย่างที่ต้องการ

การปฏิสนธิคืออะไร ?

การปฏิสนธิ คือกระบวนการที่เซลล์อสุจิจากเพศชายและเซลล์ไข่จากเพศหญิงรวมตัวกัน โดยเซลล์อสุจิที่สมบูรณ์แข็งแรงจะเดินทางไปถึงเซลล์ไข่ภายในท่อนำไข่ (Fallopian Tube) และเกิดการหลอมรวมกันเป็นไซโกต (Zygote) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ที่น่าตื่นเต้นและน่าอัศจรรย์

การปฏิสนธิมีขั้นตอนอย่างไร ?

สำหรับคนที่สงสัยว่าการปฏิสนธิเกิดขึ้นเมื่อใด สามารถอธิบายได้ว่า จะเกิดขึ้นเมื่อไข่ได้ผสมรวมกันกับอสุจิ โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

การตกไข่

กระบวนการปฏิสนธิจะเริ่มต้นจากการตกไข่ โดยไข่หลายใบในรังไข่ของผู้หญิงจะค่อย ๆ เจริญเติบโต แต่จะมีไข่เพียง 1 ใบเท่านั้น ที่หลุดออกจากถุงน้ำหุ้มไข่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ แล้วจะเคลื่อนที่เข้าสู่ท่อนำไข่ ซึ่งมักเกิดขึ้นก่อนการมีประจำเดือนประมาณ 14 วัน

การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน

เมื่อเกิดการตกไข่ ร่างกายจะกระตุ้นให้มีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้ผนังมดลูกหนาขึ้น และมีเลือดไหลเวียนดี รวมถึงมีสภาพที่เหมาะสมสำหรับการฝังตัวอ่อน

การเคลื่อนที่ของไข่เพื่อรอปฏิสนธิ

ไข่ที่หลุดออกมาจากรังไข่ จะเคลื่อนตัวไปตามท่อนำไข่ ด้วยความช่วยเหลือจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อท่อนำไข่ และการโบกพัดของซีเลีย ซึ่งเป็นขนเล็ก ๆ ภายในท่อนำไข่ หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วอสุจิเข้าผสมกับไข่ที่บริเวณใด คำตอบคือ ไข่จะไปรอการปฏิสนธิอยู่บริเวณส่วนปลายของท่อนำไข่ที่เรียกว่าแอมพูลลา โดยไข่สามารถรอการผสมได้ประมาณ 12-24 ชั่วโมง หากไม่มีอสุจิเข้ามาในช่วงนี้ ไข่ก็จะสลายตัวไป

การปฏิสนธิ

อสุจิจำนวนมากจะเดินทางเข้าสู่ท่อนำไข่ แต่อสุจิตัวที่แข็งแรงและว่ายเร็วที่สุดจะเจาะเข้าสู่ชั้นโปรตีนที่ห่อหุ้มไข่อยู่ เมื่ออสุจิเข้าสู่ไข่ได้ ไข่จะแปรสภาพเพื่อไม่ให้อสุจิตัวอื่นสามารถเจาะเข้าไปได้อีก หลังจากนั้นนิวเคลียสของไข่และอสุจิจะรวมตัวกันเพื่อสร้างเซลล์ใหม่ที่เรียกว่า ไซโกต

ระยะฝังตัว

หลังจากกระบวนการปฏิสนธิสิ้นสุดลง ไซโกตจะเริ่มแบ่งตัวอย่างรวดเร็วกลายเป็นบลาสโตซิสต์ ระหว่างเคลื่อนที่ไปยังมดลูก ต่อจากนั้นบลาสโตซิสต์จะฝังตัวลงในผนังมดลูก เพื่อเริ่มการพัฒนาเป็นตัวอ่อนต่อไป

การปฏิสนธิเกิดขึ้นเมื่อใด ใช้เวลากี่วัน ?

การปฏิสนธิ สามารถเกิดขึ้นได้ทันทีหลังการตกไข่ หากมีอสุจิเข้าถึงไข่ในท่อนำไข่ โดยปกติแล้วกระบวนการปฏิสนธิและการฝังตัวจะใช้เวลารวมประมาณ 6-10 วัน ดังนั้นสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่สงสัยว่า “การปฏิสนธิของไข่กับอสุจิต้องใช้เวลากี่วัน ?” คำตอบคือตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การตกไข่ไปจนถึงการฝังตัวเสร็จสมบูรณ์ในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์

วิธีเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิคือการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

วิธีเพิ่มความสำเร็จในการปฏิสนธิ

หากคู่แต่งงานต้องการเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการปฏิสนธิ และสามารถตั้งครรภ์ได้อย่างที่ใจต้องการ จำเป็นต้องอาศัยทั้งการวางแผนและการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ดังต่อไปนี้

การคำนวณระยะไข่ตก

การติดตามรอบเดือน รวมถึงคำนวณวันไข่ตก เป็นหนึ่งในวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิภาพในการเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้สำเร็จ โดยสามารถทำได้ดังนี้

  • ติดตามรอบเดือน ด้วยการใช้ปฏิทินหรือแอปพลิเคชัน เพื่อช่วยบันทึกวันที่มีประจำเดือน ซึ่งโดยปกติแล้ว รอบเดือนจะเกิดขึ้นทุก ๆ 28 วัน
  • คำนวณวันไข่ตก โดยปกติวันไข่ตกจะเกิดขึ้นประมาณ 14 วันก่อนรอบเดือนครั้งถัดไป

เมื่อรู้ช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว คู่แต่งงานควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 2-3 วันก่อนและหลังการตกไข่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้สำเร็จได้

ปรับพฤติกรรม ลดปัจจัยเสี่ยง

การดูแลสุขภาพเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเพิ่มคุณภาพของไข่และอสุจิ รวมถึงส่งผลต่อความสมดุลของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีการดังนี้

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากหรือน้อยเกินไป ส่งผลต่อความสมดุลของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่และตั้งครรภ์
  • รับประทานอาหารบำรุงร่างกาย ให้ระบบต่าง ๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    • ผักใบเขียว ถั่ว และปลา เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของไข่และอสุจิ
    • กรดไขมันโอเมก้า 3 ที่พบในปลาทะเล ซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และปรับปรุงการทำงานของฮอร์โมน
  • รับประทานอาหารเสริม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย
    • โฟลิกแอซิด เสริมสร้างระบบประสาท ช่วยป้องกันความผิดปกติของตัวอ่อนในระยะแรก
    • ซิงก์และซีลีเนียม ช่วยส่งเสริมคุณภาพของอสุจิ
  • จัดการความเครียด เพื่อลดโอกาสที่ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา เพราะฮอร์โมนชนิดนี้จะเข้ามารบกวนการทำงานของระบบสืบพันธุ์
  • จำกัดปริมาณการดื่มคาเฟอีน เพราะหากดื่มมากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าหากดื่มเป็นประจำหรือในปริมาณมาก จะลดคุณภาพของไข่และอสุจิ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงของภาวะมีบุตรยาก
  • หยุดสูบบุหรี่ เพราะสารเคมีในบุหรี่มีส่วนทำให้ไข่และอสุจิเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น

การดูแลสุขภาพและการปรับพฤติกรรมเหล่านี้ ไม่เพียงช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จในการปฏิสนธิ แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวของทั้งว่าที่คุณพ่อและคุณแม่อีกด้วย

สำหรับคู่แต่งงานที่ต้องการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ แนะนำให้มาปรึกษาที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) เราเป็นคลินิกมีบุตรยากที่ได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีเวชแห่งประเทศไทย พร้อมดูแลคุณด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางและเทคโนโลยีที่ทันสมัย

บทความโดย แพทย์ศรมน ทรงวีรธรรม

ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ ได้ที่

VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร

Hotline: 082-903-2035

LINE Official: @vfccenter

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. การปฏิสนธิเป็นอย่างไร เกิดขึ้นตอนไหน ?. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 จาก https://www.pobpad.com/การปฏิสนธิเป็นอย่างไร-เ
No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.