การตรวจไข่ตกถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้คู่รักสามารถวางแผนการมีบุตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำความเข้าใจถึงเรื่องนี้ตั้งแต่ขั้นตอนการใช้ที่ตรวจไข่ตก การแปลผล รวมถึงการดูแลสุขภาพ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้การตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จได้
ที่ตรวจไข่ตก ตัวช่วยสำหรับคู่รักที่ต้องการวางแผนการมีบุตร
ที่ตรวจไข่ตกเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจวัดระดับฮอร์โมนลูทีไนซิง (LH) ในปัสสาวะ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในปริมาณมากก่อนการตกไข่ประมาณ 24-36 ชั่วโมง เมื่อระดับฮอร์โมน LH เพิ่มสูงขึ้น โดยที่ตรวจไข่ตกจะแสดงผลเป็น 2 ขีด เพื่อบ่งบอกว่าร่างกายกำลังเข้าสู่ช่วงที่มีโอกาสตั้งครรภ์สูงสุดในรอบเดือน ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการมีเพศสัมพันธ์เพื่อการตั้งครรภ์ โดยทั่วไปแล้ว ที่ตรวจไข่ตกจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
- แผ่นตรวจไข่ตกแบบแถบ ใช้งานง่าย ราคาไม่สูง เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น
- ที่ตรวจไข่ตกแบบดิจิทัล ให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและแม่นยำ โดยแสดงผลผ่านหน้าจอ
ขั้นตอนการใช้งานที่ตรวจไข่ตกและการอ่านผล
- เตรียมปัสสาวะ โดยเก็บปัสสาวะในภาชนะที่สะอาด แต่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากเกินไปก่อนการตรวจ เพราะอาจทำให้ระดับฮอร์โมน LH เจือจาง
- จุ่มที่ตรวจจนถึงขีดที่กำหนด และรอผลตามเวลาที่ระบุไว้ในคู่มือ
- การอ่านผล หากที่ตรวจไข่ตกแสดงผล 1 ขีด แสดงว่าไม่มีสัญญาณของไข่ตก แต่ถ้าเป็น 2 ขีด จะหมายถึงฮอร์โมน LH อยู่ในระดับสูง แสดงว่าใกล้ถึงช่วงไข่ตก
เวลาที่เหมาะสมในการตรวจเพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์
สำหรับคำถามที่ว่า ควรตรวจไข่ตกตอนไหนดี ? ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ การตรวจในวันที่ 10–14 ของรอบเดือน เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสในการพบวันไข่ตกที่แม่นยำขึ้น สำหรับเวลาในการตรวจไข่ตกที่ดีที่สุดนั้น แนะนำให้ตรวจในช่วงบ่าย หรือช่วงเย็น เนื่องจากระดับฮอร์โมน LH จะสูงกว่าช่วงเช้า
ประจำเดือนไม่มา แต่ตรวจไข่ตกขึ้น 2 ขีด เกิดจากอะไร ?
หากประจำเดือนขาด หรือมีรอบเดือนที่ผิดปกติ แต่ตรวจรอบการไข่ตกแล้วขึ้น 2 ขีด อาจหมายความว่า ร่างกายกำลังเกิดภาวะที่เรียกว่า “ไข่ตกช้า” ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือสุขภาพโดยรวม นอกจากนี้ ในบางกรณีอาจเกิดจากภาวะฮอร์โมนผิดปกติที่ทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ แนะนำให้ทำการตรวจซ้ำหลาย ๆ ครั้ง เพื่อติดตามระดับฮอร์โมน หรือปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการตั้งครรภ์ที่เหมาะสม
เคล็ดลับการดูแลสุขภาพและการเตรียมตัวในช่วงไข่ตก
การดูแลสุขภาพในช่วงไข่ตกเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับการตั้งครรภ์ ซึ่งรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับร่างกาย เพื่อช่วยให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการปฏิสนธิและการฝังตัวของไข่ที่สมบูรณ์ โดยมีเคล็ดลับสำคัญ ดังนี้
ทานอาหารที่มีประโยชน์
โภชนาการที่ดีเป็นพื้นฐานของสุขภาพที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในช่วงไข่ตกที่ควรเน้นอาหารบำรุงร่างกายและเสริมระบบฮอร์โมน ดังนี้
- อาหารที่อุดมด้วยโปรตีน เช่น ไข่ ปลา ถั่ว และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน โดยโปรตีนจะช่วยสร้างฮอร์โมนและเซลล์สืบพันธุ์ที่แข็งแรง
- ผักและผลไม้สด โดยเฉพาะที่มีวิตามินซีและอี เช่น ส้ม มะละกอ และอะโวคาโด ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขภาพของไข่และมดลูก
- กรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน วอลนัท และเมล็ดเจีย โดยกรดไขมันชนิดนี้จะช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนและลดการอักเสบ
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และช่วยให้ระบบฮอร์โมนทำงานได้ดีขึ้น แต่ควรระวังไม่ออกกำลังกายหนักมากเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อการตกไข่ได้
ลดความเครียด
ความเครียดเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกไข่และรอบเดือน หากมีความเครียดสูงอาจทำให้ระบบฮอร์โมนแปรปรวน ส่งผลให้ไข่ตกผิดปกติหรือไม่ตกเลย วิธีลดความเครียดที่ทำได้ไม่ยุ่งยากก็คือ การฝึกสมาธิ ทำสมาธิ ฟังเพลงผ่อนคลาย หรือทำกิจกรรมที่ชอบ
พักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของระบบสืบพันธุ์ เพราะร่างกายต้องการเวลาฟื้นฟูและปรับสมดุลของฮอร์โมน โดยควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืน และหลีกเลี่ยงคาเฟอีน โดยเฉพาะในช่วงบ่ายหรือเย็น เพื่อไม่ให้รบกวนการนอนหลับ
สำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มความมั่นใจในช่วงไข่ตก สามารถเพิ่มการดูแลด้วยการตรวจสุขภาพ เช่น การทำอัลตร้าซาวนด์ เพื่อดูการเจริญเติบโตของไข่ พร้อมรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเอง โดยสูตินรีแพทย์ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้สำเร็จ แต่สำหรับผู้ที่ตรวจแล้วได้ผลลัพธ์ไม่ตรงใจ หรือกำลังเผชิญกับภาวะมีบุตรยากและกำลังมองหาทางเลือก ว่าควรไปรักษามีบุตรยากที่ไหนดี ? ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำอิ๊กซี่ที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) ศูนย์เฉพาะทางด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก ที่ได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีเวชแห่งประเทศไทย เพื่อค้นหาวิธีรักษาที่เหมาะสมมากที่สุด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 082-903-2035
บทความโดย แพทย์วรวัฒน์ ศิริปุณย์
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline: 082-903-2035
LINE Official: @vfccenter
ข้อมูลอ้างอิง:
- How to Use an Ovulation Test. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.webmd.com/baby/how-to-use-an-ovulation-test
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.