เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

ปล่อยในแบบไหนถึงท้อง ? เคล็ดลับเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์

ปล่อยในวันไข่ตกจะท้องไหม ปล่อยในแบบไหนถึงท้อง

สำหรับคู่รักที่กำลังพยายามตั้งครรภ์ คำถามยอดนิยมอย่าง “ปล่อยในวันไข่ตกจะท้องไหม ?” และ “ปล่อยในแบบไหนถึงท้อง ?” เป็นสิ่งที่หลายคนอยากได้คำตอบ ซึ่งการทำความเข้าใจถึงช่วงเวลาไข่ตก คือเคล็ดลับที่จะช่วยให้คู่สมรสสามารถวางแผนการมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างแม่นยำ พร้อมทั้ง “ปล่อยใน” ได้อย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น

วันไข่ตกคืออะไร ? ทำไมถึงเป็นช่วงเวลาสำคัญในการตั้งครรภ์

วันไข่ตก คือ ช่วงเวลาที่ไข่ในรังไข่สุกเต็มที่และพร้อมสำหรับการปฏิสนธิ โดยมักเกิดขึ้นในวันที่ 14 ของรอบเดือน ในกรณีรอบเดือนปกติ 28 วัน ซึ่งไข่ที่สุกจะอยู่ในร่างกายเพียง 12-24 ชั่วโมงเท่านั้น การเข้าใจวันไข่ตกจึงช่วยให้คู่รักสามารถกำหนดเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการปล่อยใน เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปล่อยในวันไข่ตกจะท้องไหม ?

การปล่อยในวันไข่ตก เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นช่วงที่ไข่พร้อมสำหรับการปฏิสนธิมากที่สุด ซึ่งโอกาสตั้งครรภ์ในช่วงนี้อาจสูงถึง 30% อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเวลา แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น คุณภาพของอสุจิ ความพร้อมของมดลูก และสุขภาพโดยรวมของทั้งคู่

นอกจากนี้ หากคู่สมรสไม่มีโอกาสมีเพศสัมพันธ์ตรงกับวันไข่ตก การมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 1-2 วันก่อนวันไข่ตกก็สามารถเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้เช่นกัน เพราะอสุจิสามารถอยู่ในร่างกายของผู้หญิงได้นานถึง 3-5 วัน

ปล่อยในแบบไหนถึงท้อง ?

การเลือกช่วงเวลาในการมีเพศสัมพันธ์

การรู้ช่วงเวลาไข่ตก ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการมีเพศสัมพันธ์ การใช้ชุดตรวจวันไข่ตก (Ovulation Test Kit) เป็นวิธีที่ช่วยตรวจหาฮอร์โมนลูทิไนซิง (LH) ในปัสสาวะ ซึ่งระดับฮอร์โมนนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนการตกไข่ประมาณ 12-36 ชั่วโมง เมื่อผลการตรวจเป็นบวก แสดงว่าร่างกายกำลังจะมีการตกไข่ในไม่ช้า ควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลานี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิ หรือหากไม่ได้ใช้ชุดตรวจ ฝ่ายหญิงสามารถสังเกตช่วงเวลาไข่ตกได้จากสัญญาณของร่างกาย เช่น อาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย, ตกขาวเยอะขึ้น และอาจมีความต้องการทางเพศสูงขึ้น

ท่าทางหลังมีเพศสัมพันธ์

หลังจากมีเพศสัมพันธ์ การให้ฝ่ายหญิงนอนราบประมาณ 10-15 นาที อาจช่วยให้อสุจิเดินทางไปยังไข่ได้ง่ายขึ้น

พฤติกรรมที่ช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์

นอกจากการทำความเข้าใจว่า ปล่อยไหนแบบไหนถึงท้อง สุขภาพที่ดีของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้เช่นกัน ดังนั้นคู่รักจึงต้องใส่ใจกับการปรับพฤติกรรม และการดูแลสุขภาพ ในระหว่างที่กำลังพยายามมีเจ้าตัวน้อย

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

การเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารจำเป็น จะช่วยส่งเสริมคุณภาพของไข่และอสุจิ

  • ผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักโขม และบรอกโคลี อุดมไปด้วยโฟเลตและวิตามิน
  • ถั่วต่าง ๆ และธัญพืช ที่มีโปรตีนและกรดไขมันดี
  • ปลาทะเล เช่น แซลมอนและแมคเคอเรล อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3 ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป อาหารที่มีน้ำตาลสูง และอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์

การออกกำลังกายที่เหมาะสม

การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและปรับสมดุลฮอร์โมน แต่ควรระมัดระวังไม่ให้หักโหม เพราะการออกกำลังกายหนักเกินไปอาจกระทบการตกไข่และทำให้รอบเดือนผิดปกติ และสำหรับฝ่ายชาย ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้อุณหภูมิบริเวณอัณฑะสูงเกินไป เช่น การปั่นจักรยานนาน ๆ

ลดพฤติกรรมเสี่ยง

  • งดสูบบุหรี่ เพราะสารเคมีในบุหรี่จะทำให้ไข่และอสุจิเสื่อมคุณภาพ
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล
  • ลดการบริโภคคาเฟอีน โดยควรจำกัดการดื่มกาแฟไม่เกิน 1-2 แก้วต่อวัน ในช่วงที่กำลังพยายามตั้งครรภ์

การลดความเครียด

ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อฮอร์โมนการเจริญพันธุ์ การลดความเครียดจะช่วยสร้างสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจ โดยสามารถบรรเทาความเครียดได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ฝึกสมาธิหรือโยคะ เพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • ทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง หรือออกไปท่องเที่ยว

การเสริมวิตามินบำรุง

  • กรดโฟลิก ช่วยลดความเสี่ยงของความผิดปกติในทารก
  • วิตามินซีและอี ช่วยเพิ่มคุณภาพของอสุจิและไข่
  • ซิงก์และซีลีเนียม ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของระบบสืบพันธุ์ฝ่ายชาย

อย่างไรก็ตาม การรับประทานวิตามินบำรุง ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และควรเลือกวิตามินจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อประสิทธิภาพในการบำรุงร่างกาย

ทำความเข้าใจวันตกไข่ ปล่อยในแบบไหนถึงท้อง

การดูแลสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ก้าวแรกที่สำคัญในการเตรียมตัว

นอกเหนือไปจากการปรับพฤติกรรม คู่สมรสควรปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างสมบูรณ์และปลอดภัยมากที่สุด

  • เข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ เพื่อช่วยให้คู่สมรสประเมินความพร้อม และลดความเสี่ยงของภาวะมีบุตรยาก
  • การตรวจเลือดและวิเคราะห์ฮอร์โมน สามารถช่วยวินิจฉัยปัญหาที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์
  • การฉีดวัคซีน เช่น หัดเยอรมันและไวรัสตับอักเสบบี จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้

หากคู่รักพยายามตั้งครรภ์มานานกว่า 6-12 เดือนแต่ยังไม่สำเร็จ การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์ เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยประเมินและหาสาเหตุ เช่น ปัญหาของไข่ อสุจิ หรือระบบสืบพันธุ์ ซึ่งการรักษาที่เหมาะสม เช่น การทำอิ๊กซี่ สามารถช่วยให้คู่สมรสประสบความสำเร็จในการมีเจ้าตัวน้อยได้

เข้ารับคำปรึกษาเรื่องการมีบุตรได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) ศูนย์เฉพาะทางด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก ที่ได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีเวชแห่งประเทศไทย พร้อมดูแลคุณด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์เจริญพันธุ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย

บทความโดย แพทย์ศรมน ทรงวีรธรรม

ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ ได้ที่

VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร

Hotline: 082-903-2035

LINE Official: @vfccenter

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. Understanding Ovulation & Fertility: Facts to Help You Get Pregnant. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 จาก https://www.webmd.com/baby/ss/slideshow-understanding-fertility-ovulation
  2. Ovulation and fertility. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 จาก https://www.pregnancybirthbaby.org.au/ovulation-and-fertility#:~:text=You%20are%20most%20likely%20to,for%2012%20to%2024%20hours.
No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.