เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

รวมข้อปฏิบัติการดูแลตัวเองหลังใส่ตัวอ่อน เพิ่มโอกาสตั้งครรภ์

แพทย์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตัวเองหลังใส่ตัวอ่อน

ในการทำเด็กหลอดแก้ว หนึ่งในขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างมากคือกระบวนการย้ายตัวอ่อน เพื่อนำไปฝังสู่โพรงมดลูก ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณแม่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพราะมีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนโดยตรง ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับคุณแม่ เราจะขอมาแนะนำข้อควรปฏิบัติและเรื่องน่ารู้หลังใส่ตัวอ่อน เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้สำเร็จ

หลังใส่ตัวอ่อนกี่วันฝังตัว ?

ปกติแล้วตัวอ่อนจะใช้เวลาฝังตัวประมาณ 1-2 วัน หลังจากการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก โดยตัวอ่อนจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวไปยังผนังมดลูกและเริ่มกระบวนการฝังตัว ซึ่งหลังจากตัวอ่อนฝังตัวแล้ว ร่างกายของคุณแม่จะเริ่มผลิตฮอร์โมน HCG ที่สามารถตรวจพบได้ในการทดสอบการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการฝังตัวอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนอาจใช้เวลาน้อยกว่าหรือมากกว่านี้ก็ได้  

ปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการฝังตัวอ่อน

โอกาสสำเร็จในการฝังตัวอ่อนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ที่พบได้หลัก ๆ มีดังนี้

อายุของแม่

อายุเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการฝังตัวของตัวอ่อน โดยผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี มักมีโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์สูงกว่า เนื่องจากคุณภาพภายในมดลูกและตัวอ่อนยังคงมีความสมบูรณ์อยู่ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้นก็จะเสื่อมคุณภาพลดลงตามธรรมชาติ เช่น มีก้อนเนื้องอกหรือมีติ่งเนื้อในโพรงมดลูก หรือจำนวนไข่และคุณภาพไข่ลดลง จนทำให้ได้ตัวอ่อนที่มีคุณภาพแย่ลง ภาวะเหล่านี้ล้วนส่งผลให้โอกาสในการฝังตัวของตัวอ่อนลดลงด้วย

คุณภาพของตัวอ่อน

คุณภาพของตัวอ่อนเป็นอีกปัจจัยสำคัญของกระบวนการนี้ โดยแพทย์จะคัดเลือกตัวอ่อนคุณภาพดี ซึ่งจะมีการแบ่งเซลล์ที่สม่ำเสมอ และมีการพัฒนาตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้การฝังตัวดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ การตรวจโครโมโซมตัวอ่อนก่อนการย้าย เพื่อคัดตัวอ่อนที่มีคุณภาพมากที่สุด ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้ประสบความสำเร็จได้

ความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก

ความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกมีผลโดยตรงต่อการฝังตัวของตัวอ่อน โดยความหนาที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 8-12 มิลลิเมตร ถ้าเยื่อบุโพรงมดลูกบางเกินไปหรือหนาเกินไป จะส่งผลให้โอกาสในการฝังตัวของตัวอ่อนลดลง รวมถึงเยื่อบุโพรงมดลูก ควรมีเลือดไหลเวียนดี เพื่อที่จะหล่อเลี้ยงตัวอ่อนให้เจริญเติบโตต่อไป

อาการหลังใส่ตัวอ่อน ที่ต้องคอยสังเกต

หลังใส่ตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก ควรสังเกตอาการต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป หรือบ่งบอกว่าควรไปปรึกษาแพทย์ ดังนี้

อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังใส่ตัวอ่อน

  • เลือดออกกะปริดกะปรอย ในช่วง 6-12 วันหลังใส่ตัวอ่อน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการฝังตัวของตัวอ่อน (Implantation Bleeding) แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีอาการนี้
  • อาการปวดหน่วงท้องน้อย คล้ายอาการประจำเดือนจะมา ซึ่งเป็นอาการปกติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและกล้ามเนื้อมดลูก
  • เจ็บเต้านมและรู้สึกตึง เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกาย
  • อารมณ์แปรปรวน ทั้งรู้สึกดีใจ วิตกกังวล หรือเศร้าโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง
  • เหนื่อยล้า ง่วงนอนมากกว่าปกติ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานมาก
  • ท้องอืด และรู้สึกไม่สบายตัว เกิดจากผลกระทบของการกระตุ้นรังไข่ในขั้นตอนก่อนหน้าและการเปลี่ยนแปลงของระบบย่อยอาหาร ที่มักพบในรอบการใส่ตัวอ่อน ซึ่งเป็นรอบเดียวกันกับที่มีการกระตุ้นไข่

อาการที่ควรรีบไปพบแพทย์

  • มีเลือดออกมากผิดปกติ หากมากกว่าที่เคยมีในช่วงรอบเดือน ควรรีบไปพบแพทย์
  • ปวดท้องรุนแรง อาจเป็นสัญญาณของภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (OHSS) หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ท้องนอกมดลูก
  • มีไข้สูง เกิน 38 องศาเซลเซียส หรือมีอาการที่บ่งชี้ถึงการติดเชื้อ เช่น ปวดแสบขณะปัสสาวะ หรือเกิดภาวะตกขาวที่มีกลิ่นผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์

ผู้หญิงรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หลังใส่ตัวอ่อน

ข้อปฏิบัติสำคัญสำหรับคุณแม่หลังใส่ตัวอ่อน

การดูแลตนเองหลังใส่ตัวอ่อน เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการตั้งครรภ์ โดยมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

  • ข้อแนะนำที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือใช้ยาต่อเนื่องและสม่ำเสมอตามคำแนะนำ ไม่ควรลืมใช้ยาเด็ดขาด
  • หลังการใส่ตัวอ่อน ในช่วงแรกควรนอนพักนิ่ง ๆ บนเตียง เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย แต่การนอนนิ่งตลอดไม่เคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำ เนื่องจากส่งผลให้เกิดความเครียดเพิ่มมากขึ้นได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืน ซึ่งเป็นการช่วยลดความเครียดและทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์
  • ห้ามสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจรบกวนสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน
  • เลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงมาก ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังใส่ตัวอ่อน เพราะเสี่ยงที่จะกระทบกระเทือน และเป็นอันตรายต่อกระบวนการฝังตัวอ่อนได้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีโฟเลต ซึ่งพบได้ในผักใบเขียว ผลไม้ตระกูลส้ม รวมถึงควรบริโภคธาตุเหล็ก ซึ่งพบได้ในเนื้อแดง ผักใบเขียว เนื่องจากเป็นสารอาหารสำคัญต่อการพัฒนาของตัวอ่อน
  • เลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารที่มีน้ำตาลสูง และอาหารที่มีไขมันทรานส์ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อน
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เนื่องจากมีผลต่อการไหลเวียนของเลือดและการฝังตัวของตัวอ่อน
  • หลีกเลี่ยงจากความเครียด เพราะความเครียดจะส่งผลต่อความสำเร็จในการตั้งครรภ์ ควรหากิจกรรมผ่อนคลายที่เหมาะสม เช่น การฟังเพลง การอ่านหนังสือ หรือการทำสมาธิ
  • งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดความเสี่ยงในการรบกวนกระบวนการฝังตัวของตัวอ่อน

ถึงแม้ว่าโอกาสประสบความสำเร็จในการฝังตัวอ่อนจะเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แต่การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ได้อย่างที่ใจปรารถนา 

หากต้องการประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงจากโรคทางพันธุกรรม การตรวจโครโมโซมตัวอ่อน เป็นอีกขั้นตอนที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งสำหรับคู่สมรสที่ต้องการทำเด็กหลอดแก้ว และรับบริการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน สามารถเข้ารับคำปรึกษาและวางแผนการรักษากับสูตินรีแพทย์ได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) ศูนย์เฉพาะทางด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก ที่ได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีเวชแห่งประเทศไทย เป็นศูนย์ผู้มีบุตรยากที่ได้รับความไว้วางใจจากคู่สมรสจำนวนมาก มีบริการที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ทุกปัญหาของผู้ประสบภาวะมีบุตรยากได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

บทความโดย แพทย์หญิงวนากานต์ สิงหเสนา  

ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ ได้ที่ 

VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร 

Hotline: 082-903-2035 

LINE Official: @vfccenter 

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.