
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2566 ระบุว่า ผู้ใหญ่กว่า 1.9 พันล้านคน หรือประมาณ 39% ของประชากรโลก มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ซึ่งภาวะน้ำหนักเกินไม่เพียงแต่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวานและโรคหัวใจ แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ของทั้งเพศหญิงและเพศชาย เพราะการมีน้ำหนักตัวเยอะ มีความเกี่ยวข้องกับภาวะมีลูกยากโดยตรง ดังนั้น การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีบุตรและส่งเสริมสุขภาพโดยรวมในระยะยาว
ภาวะอ้วนที่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ในเพศชาย
ทุกครั้งที่มีคำถามว่า “คนอ้วนมีลูกยากไหม ?” คนส่วนใหญ่มักพุ่งเป้าไปที่ปัญหาการมีน้ำหนักเกินของฝ่ายหญิงก่อนเสมอ แต่รู้หรือไม่ว่าภาวะอ้วนในฝ่ายชาย ก็ส่งผลต่ออัตราความสำเร็จในการปฏิสนธิและตั้งครรภ์เช่นกัน โดยหลัก ๆ เกิดจากสาเหตุเหล่านี้
คุณภาพของอสุจิลดลง
ผู้ชายที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนมีแนวโน้มที่คุณภาพของอสุจิจะลดลง ทั้งในแง่ของความเข้มข้นและจำนวนของอสุจิ การเคลื่อนไหวของอสุจิ รวมทั้งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไม่พบอสุจิในน้ำเชื้อ นอกจากนี้ ภาวะอ้วนยังส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลงและทำให้ระดับเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลเสียต่อกระบวนการสร้างอสุจิของเพศชาย
ความร้อนสะสมในถุงอัณฑะ
ภาวะอ้วนยังจะทำให้เกิดไขมันสะสมบริเวณขาหนีบและรอบถุงอัณฑะ ส่งผลให้อุณหภูมิในถุงอัณฑะสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลเสียต่อกระบวนการสร้างอสุจิ ทำให้ประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่ลดลง และอสุจิมีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร
ภาวะอักเสบและออกซิเดชันของอสุจิ
สุดท้าย การมีน้ำหนักตัวเยอะจะส่งผลต่อการอักเสบในร่างกายและปฏิกิริยาออกซิเดชัน จึงเป็นการทำลายเซลล์อสุจิ หรือทำให้ DNA ในอสุจิเสียหาย และลดความสามารถในการเคลื่อนที่และการเจาะเซลล์ไข่ นำไปสู่โอกาสในการปฏิสนธิที่น้อยลง
ภาวะอ้วนที่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ในเพศหญิง
สำหรับฝ่ายหญิงที่กังวลว่าคนอ้วนท้องได้ไหม นี่คือ 4 ความเกี่ยวข้องระหว่างความอ้วนและระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์
การทำงานของฮอร์โมนผิดปกติ
ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งผลิตจากเนื้อเยื่อไขมัน อาจก่อให้เกิดภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ สิวขึ้น ขนดก และมีบุตรยาก
การตกไข่ผิดปกติและรอบเดือนไม่สม่ำเสมอ
การทำงานผิดปกติของฮอร์โมนจากภาวะอ้วนส่งผลให้เกิด ภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง (Anovulatory Infertility) รวมทั้งประจำเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนเว้นช่วงนาน มาห่างกันมากกว่า 35 วัน หรือมาไม่เกิน 6–8 ครั้งต่อปี
ภาวะอักเสบเรื้อรังที่มีผลต่อมดลูก
ภาวะอ้วนสัมพันธ์กับการอักเสบเรื้อรังในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้สภาพแวดล้อมในมดลูกไม่เหมาะสมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
นอกจากผู้หญิงน้ำหนักตัวเยอะจะมีลูกยากแล้ว กรณีที่ตั้งครรภ์สำเร็จ ยังเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอีกหลายประการ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูง ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ การแท้งบุตร และทารกที่คลอดออกมามีความเสี่ยงพิการแต่กำเนิด
ภาวะน้ำหนักเกินส่งผลต่อกระบวนการรักษาภาวะมีบุตรยากอย่างไร ?
แม้ปัจจุบัน คนอ้วนจะท้องได้ด้วยเทคโนโลยีการรักษาจากศูนย์ผู้มีบุตรยาก แต่ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนก็ยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) หรือการฉีดอสุจิเข้าเซลล์ไข่โดยตรง (ICSI) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนมักตอบสนองต่อยากระตุ้นการตกไข่ได้น้อยกว่า ส่งผลให้ได้จำนวนไข่น้อยลงและคุณภาพของไข่ลดลง ทำให้โอกาสในการปฏิสนธิและการพัฒนาของตัวอ่อนน้อยลง
- ในเพศชาย ภาวะอ้วนสามารถส่งผลต่อคุณภาพของอสุจิ ทำให้ความเข้มข้น การเคลื่อนไหว และรูปร่างของอสุจิผิดปกติ การปฏิสนธิจึงอาจล้มเหลว แม้จะปฏิสนธิด้วยวิธี ICSI ก็ตาม
- อัตราความสำเร็จในการฝังตัวของตัวอ่อนลดลง เนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกตอบสนองต่อฮอร์โมนได้ไม่ดีเท่าที่ควร และสภาพแวดล้อมในมดลูกไม่เอื้อต่อการฝังตัวของตัวอ่อน
แนวทางการคุมน้ำหนัก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวางแผนตั้งครรภ์
พอจะเข้าใจกันแล้วว่า การมีน้ำหนักตัวเยอะเสี่ยงต่อภาวะมีลูกยากอย่างไรบ้าง อีกทั้งยังมาพร้อมความเสี่ยงมากมายต่อผู้เป็นแม่และทารกระหว่างตั้งครรภ์ ดังนั้น แม้จะมีเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยให้ตั้งครรภ์ได้สำเร็จ แต่การคุมน้ำหนักตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนมีบุตรก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยแนวทางคุมน้ำหนักที่ปฏิบัติตามได้ตั้งแต่วันนี้ ได้แก่
1. BMI ควรอยู่ในเกณฑ์ปกติทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย
การมีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ในเกณฑ์ปกติ มีความสำคัญต่อการมีบุตรที่แข็งแรงและลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอด สามารถคำนวณได้โดยใช้สูตร (น้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัม ÷ ส่วนสูงหน่วยเป็นเมตร)2 โดยปกติ BMI ควรอยู่ที่ 18.5-22.9 แต่หากตัวเลขอยู่ในระดับ 23.0-24.9 ถือว่ามีน้ำหนักเกิน ส่วนระดับ 25-29.9 จะถือว่าอ้วน และถ้าเกิน 30 ขึ้นไปเข้าข่ายอ้วนมาก
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมน
การออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดินเร็ว ว่ายน้ำ หรือการออกกำลังที่เน้นการคาร์ดิโอและฝึกเวทเทรนนิ่ง จะช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน ควบคุมน้ำหนัก และเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์
3. ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด
เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด และโปรตีนจากแหล่งที่ดี ลดการบริโภคแป้ง น้ำตาล และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ เพราะนอกจากจะช่วยคุมน้ำหนักแล้ว ยังดีต่อร่างกายด้วย
4. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
แต่นอกจากการควบคุมน้ำหนักเพื่อเตรียมมีลูกแล้ว อย่าลืมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ลดความเครียด นอนหลับให้เพียงพอ เลิกสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยให้ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน
สำหรับคู่สมรสที่ประสบปัญหาน้ำหนักเกิน ส่งผลให้มีบุตรยาก หรือมีปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ และกำลังวางแผนว่าจะทำ ICSI ที่ไหนดี สามารถเข้ารับคำปรึกษาและวางแผนการรักษากับสูตินรีแพทย์ได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) ศูนย์เฉพาะทางด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก ที่ได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีเวชแห่งประเทศไทย เป็นศูนย์ผู้มีบุตรยากที่ได้รับความไว้วางใจจากคู่สมรสจำนวนมาก มีบริการที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ทุกปัญหาของผู้ประสบภาวะมีบุตรยากได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทความโดย แพทย์วนากานต์ สิงหเสนา
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ ได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline: 082-903-2035
LINE Official: @vfccenter
ข้อมูลอ้างอิง:
- อยากมีลูกต้องรู้ “โรคอ้วน” กับ “ภาวะมีบุตรยาก” สัมพันธ์กันอย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 จาก https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1026023
- Obesity and Pregnancy. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 จาก https://www.acog.org/womens-health/faqs/obesity-and-pregnancy

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.