เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

การทำ IUI ทางเลือกเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์สำหรับคนมีบุตรยาก

การทำ IUI ฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก

 

รักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำ IUI ฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก

 

การฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกหรือ IUI คืออะไร ?

การทำ IUI (Intrauterine Insemination) หรือการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก นับว่าเป็นการทำผสมเทียมที่มีข้อได้เปรียบกว่าวิธีอื่น ๆ เพราะในการเตรียมอสุจิซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการทำ IUI จะมีการปั่นเลือกเฉพาะตัวอสุจิที่แข็งแรง มีการเคลื่อนไหวดีมาอยู่ในน้ำยาเพาะเลี้ยง (culture medium) ในปริมาตรน้อย (ประมาณ 0.4 – 0.5 มิลลิลิตร) จึงช่วยแก้ปัญหาความผิดปกติของฝ่ายชายที่ไม่รุนแรงได้

นอกจากนี้ การทำ IUI ยังช่วยเพิ่มโอกาสการมีบุตรให้กับผู้ที่มีปัญหาตัวอสุจิน้อยหรือมีตัวที่เคลื่อนไหวน้อยได้ เนื่องจากการที่แยกตัวอสุจิออกจากน้ำอสุจิที่เหลืออยู่จะทำให้สามารถฉีดอสุจิที่ผ่านการเตรียมพร้อมมาแล้วเข้าสู่โพรงมดลูกได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากสารอื่น ๆ ที่มีในน้ำอสุจิ เช่น โปรตีน prostaglandins หรือแม้กระทั่งแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่

ทำไมต้องทำ IUI ?

ในปัจจุบันการทำ IUI เป็นการรักษาเบื้องต้นของผู้ที่วางแผนมีบุตร แต่เผชิญหน้ากับปัญหาภาวะมีบุตรยากได้หลากหลายสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น

  • ความผิดปกติของทางฝ่ายชายที่ไม่รุนแรง
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกระยะที่ 1-2
  • ภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ (unexplained infertility)

ซึ่งการทำ IUI จะไปช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้สำเร็จ แม้จะมีภาวะมีบุตรยาก ทั้งยังสามารถช่วยลดโอกาสได้รับเชื้อ HIV ในรายที่สามีมีการติดเชื้อ (serodiscordant couple) หรือแม้กระทั่งในรายที่กระตุ้นไข่เพื่อที่จะทำการรักษาด้วยเทคโนโลยีวิธีอื่นแล้วเกิดการตอบสนองที่ไม่ปกติ (poor responder) ก็สามารถเปลี่ยนเป็นมาทำ IUI ได้ถ้าท่อนำไข่ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

การทำ IUI เหมาะกับใคร ?

  • เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำเชื้อ มีความเข้มข้นน้อย ปริมาณน้ำเชื้อน้อย อสุจิมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนที่ หรือไม่แข็งแรงพอ
  • เหมาะกับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี เพราะยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งมีโอกาสสำเร็จน้อยลง เนื่องจากอาจมีภาวะมดลูกเสื่อมในผู้หญิง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับอุ้งเชิงกราน เช่น ปากมดลูกหรือคอมดลูกตีบ (Cervical stenosis) จนอสุจิเคลื่อนที่เข้าโพรงมดลูกได้ยาก
  • มีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังจากความผิดปกติต่าง ๆ เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ Polycystic Ovary Syndrome (PCOS)
  • มีปัญหาประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
  • ผู้ที่ต้องการตั้งครรภ์ด้วยน้ำเชื้อที่แช่แข็งไว้ (Frozen sperm)
  • ผู้ที่ต้องการตั้งครรภ์ แต่ไม่อยากมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่มีปัญหาแพ้น้ำเชื้อ (Semen allergy) จนทำให้ช่องคลอดแดงหรือระคายเคืองเมื่อสัมผัสน้ำเชื้อ
  • เหมาะกับผู้ที่มีท่อนำไข่ที่ปกติทั้ง 2 ข้าง หรืออย่างน้อยต้องดีข้างใดข้างหนึ่ง

การทำ IUI ไม่เหมาะกับใคร ?

  • ผู้ที่มีท่อนำไข่หรือปีกมดลูกอุดตันทั้งสองข้าง ทำให้อสุจิไม่สามารถเข้าถึงไข่ได้
  • ผู้ที่มีพังผืดในอุ้งเชิงกรานจากภาวะเยื่อมดลูกเจริญผิดที่ระดับรุนแรง
  • ผู้ที่ไม่สามารถหลั่งน้ำเชื้อได้ หรือมีน้ำเชื้อน้อยกว่า 1 ล้านตัว
  • ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง หรือทั้งสองฝ่าย ที่ผ่านการทำหมันมาแล้ว
  • ผู้ที่เคยทำ IUI มามากกว่า 3 – 6 รอบ แล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จ

ขั้นตอนการทำ IUI

1. การกระตุ้นไข่

การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถทำได้ทั้งในรอบเดือนธรรมชาติที่ไม่มีการกระตุ้นไข่ และรอบเดือนที่ทำการกระตุ้นไข่เพื่อให้มีไข่ตกหลายใบขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

ก่อนทำ IUI แพทย์จะทำการกระตุ้นการตกไข่ของฝ่ายหญิง ด้วยการให้รับประทานยาหรือฉีดยาเพื่อให้เกิดการตกไข่ โดยจะใช้ยากระตุ้นไข่ในวันที่ 3 หลังจากประจำเดือนมา จากนั้นแพทย์จะอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจดูขนาดของไข่ ก่อนทำ IUI หากมีขนาดที่พอเหมาะและพร้อมผสมกับอสุจิแล้ว จึงจะนัดวันฉีดยากระตุ้นเพื่อให้ไข่ตก

2. การเตรียมอสุจิ

นอกจากปริมาตรของน้ำอสุจิที่มีมากเกินกว่าจะทำการฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกได้แล้ว น้ำอสุจิยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ได้ด้วย ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการเตรียมเชื้ออสุจิ เพื่อให้ได้อสุจิที่มีคุณภาพสำหรับฉีดเข้าโพรงมดลูก โดยการปั่นเลือกเฉพาะตัวอสุจิที่มีคุณภาพดี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง

3. การฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก

เมื่อไข่ตกภายใน 24 – 40 ชั่วโมงหลังฉีดยา แพทย์จะฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อให้อสุจิที่แข็งแรงว่ายเข้าไปผสมกับไข่ ซึ่งในขั้นตอนการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกจะต้องทำให้เกิดการกระทบกระเทือนน้อยที่สุดเพื่อลดการกระตุ้นให้มดลูกเกิดการหดรัดตัว โดยหลังฉีดแพทย์จะให้ฝ่ายหญิงนอนพักประมาณ 15 – 30 นาที แล้วให้กลับไปพักที่บ้าน ซึ่งหลังจากนั้นสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ไม่ควรยกของหนักหรือออกกำลังกายหนักเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

การเตรียมตัวก่อนทำ IUI

  1. ตรวจร่างกายและสุขภาพโดยรวม ว่ามีปัญหาสุขภาพใดที่อาจส่งผลต่อการทำ IUI หรือไม่ เช่น โรคประจำตัว หรือโรคติดเชื้อ
  2. ตรวจว่ามีไข่ตกตามปกติหรือไม่ โดยอาจใช้วิธีตรวจอัลตราซาวนด์หรือตรวจเลือด
  3. ตรวจเยื่อบุโพรงมดลูกหนาพอหรือไม่ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการฝังตัวอ่อน
  4. หยุดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดทุกชนิด
  5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  6. ฝ่ายชายควรงดการหลั่งอสุจิเป็นเวลา 2 – 3 วัน ก่อนการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก

อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ด้วยวิธี IUI

อัตราการตั้งครรภ์ของการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูกนั้นมีความแตกต่างกันไปตามสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก และวิธีการกระตุ้นไข่ จึงทำให้ตัวเลขอัตราความสำเร็จของแต่ละสถาบันแตกต่างกันไป ส่วนปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออัตราความสำเร็จจากการทำ IUI นั้น มีดังนี้

1. อายุของคู่สมรสทั้งฝ่ายหญิง

เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้นของคู่สมรสฝ่ายหญิงจะสัมพันธ์กับคุณภาพของไข่และคุณภาพของเยื่อบุโพรงมดลูกให้ต่ำลง

2. จำนวนครั้งในการทำ IUI

อัตราการตั้งครรภ์จะค่อนข้างดีใน 3 รอบแรกของการรักษา จึงแนะนำให้ทำ IUI ไม่เกิน 4-6 รอบ โดยหากยังไม่มีการตั้งครรภ์ ควรลองรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีเด็กหลอดแก้วต่อไป

3. ความสมบูรณ์ของอสุจิ

ความสมบูรณ์ของอสุจิเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IUI เพราะต้องอาศัยความสมบูรณ์แข็งแรงของอสุจิในการผสมกับไข่ของฝ่ายหญิงหลังจากฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกเรียบร้อยแล้ว

โอกาสการตั้งครรภ์จากการทำ IUI มีประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ และถ้าฝ่ายหญิงใช้ยากระตุ้นเพื่อให้ไข่ตกมากกว่า 1 ใบในรอบเดือนนั้น ก็จะมีโอกาสตั้งครรภ์มากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการได้ลูกแฝดด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของการรักษาจากการทำ IUI

ภาวะแทรกซ้อนที่พบจากการทำ IUI นั้นอาจเกิดได้จากหลายขั้นตอน เช่น

  • ความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะกรณีที่มีทารกมากกว่า 2 คนในครรภ์ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการที่มีการเจริญของไข่จำนวนหลายใบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้งมารดาและทารกได้
  • ความเสี่ยงที่เกิดในช่วงของการเตรียมอสุจิ เช่น การสลับอสุจิของคู่สมรสคนละคู่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยระบบควบคุมที่มีคุณภาพ หรือโอกาสถ่ายทอดโรคติดเชื้อจากสามีไปยังภรรยาโดยเฉพาะโรคเอดส์
  • ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นผลมาจากกระบวนการฉีดอสุจิ เป็นการติดเชื้ออักเสบในโพรงมดลูก ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียบริเวณช่องคลอดและปากมดลูกที่ถูกนำเข้าสู่โพรงมดลูกในขั้นตอนการฉีดอสุจิและภาวะอื่น ๆ เช่น การหดรัดตัวของมดลูกซึ่งอาจเป็นผลมาจากการกระทบกระเทือนจากการใส่สาย

การปฏิบัติตัวหลังทำ IUI

  • ฝ่ายหญิงควรนอนนิ่ง ๆ ขยับตัวให้น้อยที่สุด เพื่อให้อสุจิเคลื่อนที่เข้าไปที่ท่อนำไข่ได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ด้วยการทำ IUI
  • งดมีเพศสัมพันธ์ เพื่อไม่ให้มดลูกถูกรบกวน และตัวอ่อนจะฝังตัวได้ดีขึ้น โดยให้เว้นระยะ 2-3 วัน จึงจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้
  • หากมีอาการเจ็บบริเวณช่องคลอด หรือเกิดความผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อดูอาการและตรวจภาวะแทรกซ้อนทันที
  • หลังทำ IUI ประมาณ 2 อาทิตย์ สามารถตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเองในเบื้องต้นก่อนได้ อย่างไรก็ตาม ผลตรวจในช่วงนี้อาจยังมีความคลาดเคลื่อนและอาจยังไม่พบการตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับฮอร์โมน HCG ที่ฉีดเพื่อให้ไข่ตกยังไม่ลดระดับลง ทำให้ชุดตรวจการตั้งครรภ์อาจให้ผลที่ผิดพลาดได้
  • ควรตรวจเลือดที่โรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อดูผลลัพธ์การตรวจครรภ์ที่แน่ชัด เพราะการตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดจะให้ผลที่แม่นยำมากกว่าการตรวจปัสสาวะด้วยชุดตรวจการตั้งครรภ์ปกติ

ทำ IUI ฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก เพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ที่ VFC Center

หากต้องการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำ IUI ซึ่งเป็นการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง VFC Center มีแพ็กเกจทำ IUI ราคาพิเศษ เพียง 12,500 บาท อย่าง “IUI PREMIUM PACKAGE แพ็กเกจสุดพรีเมียม ฉีดน้ำเชื้อผสมเทียม”

โดยในแพ็กเกจจะครอบคลุมทุกขั้นตอนในการฉีด IUI รวมถึงการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางและนัดตรวจติดตาม พร้อมด้วยบริการเหล่านี้

  • การให้ยากระตุ้นไข่
  • การทำอัลตราซาวนด์ตรวจการเจริญเติบโตของไข่
  • การฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก
  • การคัดคุณภาพน้ำเชื้ออสุจิทางห้องปฏิบัติการ
  • การฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก

หากกำลังตัดสินใจว่าจะทำ IUI ที่ไหนดี เลือกศูนย์เฉพาะทางด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีบริการ IUI ที่ได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีเวชแห่งประเทศไทย อย่าง VFC Center ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร โดยโรงพยาบาลเวชธานีที่พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อหาวิธีที่เหมาะสม ด้วยบริการที่ครบทุกขั้นตอนการรักษา