การทำเด็กหลอดแก้วเพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก และเพิ่มโอกาสสำเร็จในการตั้งครรภ์
สำหรับคู่สมรสที่แต่งงานกันมานานเกิน 3 ปี และยังไม่สามารถมีบุตรได้ตามความต้องการ สิ่งนี้อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะมีบุตรยาก ซึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้เราสามารถรักษาภาวะมีบุตรยากได้ด้วยการเพิ่มโอกาสของการปฏิสนธิแทนวิธีทางธรรมชาติที่มีข้อจำกัดในด้านสุขภาพ อายุ หรือปัจจัยทางด้านอื่น ๆ ซึ่งการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF (In Vitro Fertilization) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมายาวนาน
การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) คืออะไร?
การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยให้คู่สมรสที่มีบุตรยากสามารถมีลูกได้ โดยการนำไข่และอสุจิมาผสมกันนอกร่างกาย ก่อนที่จะย้ายตัวอ่อนที่แข็งแรงที่สุดกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง ซึ่งการทำ IVF จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่ ท่อนำไข่อุดตัน หรือคุณภาพอสุจิไม่ดี นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ร่วมกับเทคนิคอื่น ๆ เช่น การตรวจคัดกรองพันธุกรรมของตัวอ่อน เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตรที่สุขภาพแข็งแรงได้
ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF)
1. การประเมินและเตรียมความพร้อม
ก่อนเริ่มกระบวนการ IVF แพทย์จะทำการประเมินสุขภาพของทั้งคู่อย่างละเอียดเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งจะประกอบด้วย
- การตรวจสุขภาพทั่วไป เพื่อประเมินความพร้อมของร่างกาย
- การตรวจระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ เช่น FSH, LH, estradiol และ AMH
- การตรวจความสมบูรณ์ของมดลูกและรังไข่ด้วยการอัลตราซาวนด์
- การตรวจคุณภาพและปริมาณอสุจิของฝ่ายชาย
2. การกระตุ้นรังไข่
ในขั้นตอนนี้ ฝ่ายหญิงจะได้รับฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการผลิตไข่หลายใบ ซึ่งแตกต่างจากการตกไข่ตามธรรมชาติที่จะผลิตไข่เพียงใบเดียวต่อรอบเดือน การกระตุ้นนี้จะใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน โดยมีขั้นตอนดังนี้
- การฉีดฮอร์โมน FSH และ LH เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของฟองไข่
- การติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่ด้วยการอัลตราซาวนด์และตรวจเลือดทุก 2-3 วัน
- การปรับขนาดยาตามการตอบสนองของร่างกาย
- การฉีดฮอร์โมน hCG เพื่อกระตุ้นการสุกของไข่เมื่อฟองไข่โตได้ขนาด
3. การเก็บไข่
หลังจากฉีด hCG ประมาณ 34-36 ชั่วโมง จะทำการเก็บไข่ โดยใช้เข็มพิเศษเจาะผ่านผนังช่องคลอดเข้าสู่รังไข่ โดยใช้การอัลตราซาวนด์นำทาง จากนั้นดูดของเหลวในฟองไข่ซึ่งมีไข่อยู่ด้วยออกมา
4. การเตรียมอสุจิ
ในการเก็บอสุจิ อาจทำในวันเดียวกับการเก็บไข่ โดยฝ่ายชายจะต้องงดการหลั่งอสุจิ 2-5 วันก่อนวันเก็บอสุจิ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ฝ่ายชายจะต้องหลั่งอสุจิลงในภาชนะที่มีความสะอาด ส่วนในกรณีที่มีปัญหาเรื่องการหลั่งอสุจิ อาจใช้วิธีเจาะดูดอสุจิโดยตรงจากอัณฑะ (TESE) หรือท่อนำอสุจิ (PESA) เมื่อได้อสุจิแล้ว ทีมแพทย์จะคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุดเพื่อใช้ในการผสมนอกร่างกายต่อไป
5. การปฏิสนธิ
หลังจากได้ไข่และอสุจิ จะนำมาผสมกันในห้องปฏิบัติการ โดยจะนำไข่และอสุจิมาผสมกันในจานเพาะเลี้ยงพิเศษ เพื่อปล่อยให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่เอง
6. การเลี้ยงตัวอ่อน
หลังการปฏิสนธิ ตัวอ่อนจะถูกเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเป็นเวลา 3-5 วัน โดยมีการติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด และนักวิทยาศาสตร์จะประเมินคุณภาพของตัวอ่อนเพื่อเลือกตัวอ่อนที่มีโอกาสฝังตัวมากที่สุด
7. การย้ายตัวอ่อน
เมื่อตัวอ่อนพัฒนาถึงระยะที่เหมาะสม จะทำการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกโดยใช้อัลตราซาวนด์ช่วยนำทางเพื่อวางตัวอ่อนในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยจำนวนตัวอ่อนที่ทำการย้าย จะขึ้นอยู่กับอายุของฝ่ายหญิงและคุณภาพของตัวอ่อน ซึ่งโดยทั่วไปจะย้าย 1-2 ตัว
8. การตรวจการตั้งครรภ์
ประมาณ 14 วันหลังย้ายตัวอ่อน จะทำการตรวจการตั้งครรภ์โดยการตรวจเลือดหาระดับฮอร์โมน hCG และ หากผลเป็นบวก จะนัดตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์อีก 2-3 สัปดาห์ต่อมา
ปัจจัยและความเสี่ยง ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการทำ IVF
อายุของฝ่ายหญิง
อายุเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการทำ IVF โดยโอกาสสำเร็จจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะหลังอายุ 35 ปี เนื่องจากคุณภาพและจำนวนของไข่ลดลง รวมถึงมีโอกาสเกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก็จะสูงขึ้น
เพิ่มโอกาสการมีบุตร จากปัญหาท่อนำไข่อุดตัน
ฝ่ายหญิงที่มีปัญหาท่อนำไข่อุดตัน จะทำให้ไข่ไม่สามารถเดินทางมาปฏิสนธิกับอสุจิได้ในการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ในขณะที่การเก็บไข่ออกมาผสมนอกร่างกายในกระบวนการ IVF จะช่วยให้ไข่ผสมกับอสุจิได้ ทำให้คู่รักเพิ่มโอกาสการมีบุตรได้มากขึ้น
คุณภาพของไข่และอสุจิ
คุณภาพของเซลล์สืบพันธุ์ส่งผลโดยตรงต่อโอกาสสำเร็จของ IVF โดยไข่ที่มีคุณภาพดีจะมีโอกาสปฏิสนธิและพัฒนาเป็นตัวอ่อนที่แข็งแรงได้สูง อีกทั้งอสุจิที่มีความแข็งแรงและมีรูปร่างปกติจะสามารถปฏิสนธิกับไข่ได้ดีกว่า
สุขภาพโดยรวมของคู่สมรส
สุขภาพที่ดีของทั้งคู่จะส่งผลบวกต่อกระบวนการ IVF เช่น น้ำหนักตัวที่เหมาะสม การไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการจัดการความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้
การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดจะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จให้กับการตั้งครรภ์ได้ เช่น การฉีดยากระตุ้นไข่ตามกำหนดเวลา การมาตรวจตามนัดหมาย รวมถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตนเองหลังย้ายตัวอ่อนอย่างเคร่งครัด
ความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์ เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษา
แพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์สูง บวกกับเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการรักษา จะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการทำ IVF ได้
การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) กับการทำอิ๊กซี่ (ICSI) ต่างกันอย่างไร ?
การทำ IVF และ ICSI คือ 2 ทางเลือกการรักษาภาวะมีบุตรยาก ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสของการปฏิสนธิ เพื่อนำไปสู่การตั้งครรภ์ที่ประสบความสำเร็จ
IVF (In-Vito Fertilization) หรือ การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นการคัดไข่ที่สมบูรณ์จากฝ่ายหญิง และคัดอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชายมาผสมกัน เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิที่ภายนอก จากนั้นจึงนำไข่ที่ผสมจนเป็นตัวอ่อนกลับเข้าไปที่โพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป
ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) หรือ การทำอิ๊กซี่ คือเทคโนโลยีใหม่ในการทำ IVF ซึ่งจะทำการคัดไข่ 1 ใบ และอสุจิ 1 ตัว ที่แข็งแรงและสมบูรณ์ที่สุดมาผสมกัน ด้วยการใช้เข็มเจาะและฉีดอสุจิเข้าไปที่ไข่โดยตรง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิกันภายนอก จากนั้นจึงนำไข่ที่ผสมกันเรียบร้อยแล้วกลับเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากควรอยู่ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งสภาพร่างกาย ประวัติสุขภาพ และความพร้อมของคู่สมรส เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดและปลอดภัยสำหรับทุกฝ่าย
สำหรับคู่สมรสคู่ใดที่กำลังพิจารณาว่าจะรักษาภาวะมีบุตรยากที่ไหนดี สามารถปรึกษาได้เลยที่ VFC Center ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ที่ให้บริการอย่างครบวงจร ครอบคลุมทุกความต้องการของคู่สมรสที่กำลังประสบกับภาวะมีบุตรยาก ตั้งแต่การให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัย ตลอดจนการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก เราพร้อมดูแลเพื่อให้คู่สมรสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ และสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบได้อย่างที่ตั้งใจ
สนใจนัดหมายเข้าปรึกษาแพทย์ หรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแพ็กเกจเด็กหลอดแก้ว ทั้งเรื่องราคาและเรื่องอื่น ๆ สามารถติดต่อได้เลยที่ เบอร์โทรศัพท์ 082-903-2035
คำถามที่พบบ่อย
การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) เจ็บหรือไม่ ?
ในกระบวนการทำ IVF ซึ่งประกอบด้วยการตรวจร่างกาย การกระตุ้นไข่ เก็บไข่ รวมถึงย้ายตัวอ่อน อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวได้ในบางขั้นตอน แต่โดยทั่วไปแล้ว ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจะอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางเท่านั้น
โดยในแต่ละขั้นตอนผู้เข้ารับการรักษาอาจมีความรู้สึกดังนี้
- การตรวจภายใน และการตรวจอัลตร้าซาวนด์ทางช่องคลอด
ขณะตรวจภายในและทำอัลตราซาวนด์อาจรู้สึกแน่นในช่องคลอดขณะใส่เครื่องมือ แต่ส่วนมากมักไม่มีอาการเจ็บปวด อีกทั้งในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาเพียงสั้น ๆ ประมาณ 5 นาทีเท่านั้น\ - การฉีดยากระตุ้นไข่
ในการฉีดยากระตุ้นไข่ จะต้องฉีดยาเข้าไปที่ผนังหน้าท้องทุกวัน เป็นเวลาประมาณ 8-12 วัน โดยใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็ก จึงอาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อยในขณะฉีดยา - การเก็บไข่
การเก็บไข่จะทำภายใต้การดมยาสลบ ดังนั้นคนไข้จะหลับสนิทและไม่รู้สึกเจ็บ อย่างไรก็ตาม หลังฟื้นจากยาสลบ อาจรู้สึกหน่วงท้องคล้ายปวดประจำเดือน ซึ่งอาการนี้มักจะคงอยู่ประมาณ 2-3 วัน - การย้ายตัวอ่อน
ในขั้นตอนการย้ายตัวอ่อน อาจรู้สึกแน่นและไม่สบายเล็กน้อย แต่จะไม่เจ็บปวดมาก
โดยรวมแล้ว ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วจะอยู่ในระดับที่ทนได้ และแพทย์จะดูแลให้คนไข้รู้สึกสบายที่สุดตลอดกระบวนการ
กระบวนการการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ใช้เวลานานเท่าไร ?
หนึ่งรอบของการทำ IVF ใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์
การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) มีอัตราความสำเร็จเท่าไร ?
อัตราความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) แตกต่างกันไปในหลายปัจจัย โดยเฉพาะอายุของฝ่ายหญิง
ค่าใช้จ่ายในการทำ IVF เป็นอย่างไร ?
ค่าใช้จ่ายในการทำ IVF โดยทั่วไปประกอบด้วย ค่ายากระตุ้นไข่, ค่าตรวจระดับฮอร์โมนเพื่อติดตามการตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่, ค่าเก็บไข่และเก็บอสุจิ, ค่าปฏิสนธิและเลี้ยงตัวอ่อน, ค่าย้ายตัวอ่อน และอื่น ๆ ซึ่งมักรวมอยู่ในแพ็กเกจเด็กหลอดแก้ว ที่มีราคาประมาณ 200,000 – 300,000 บาทต่อรอบ
เมื่อไรควรไปพบแพทย์ หากต้องการมีบุตร ?
สำหรับคู่รักที่พยายามมีลูกด้วยวิธีธรรมชาติมานานกว่า 1 ปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ควรเข้าไปขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวางแผนการมีบุตรด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป