เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

การฝากไข่คืออะไร ฝากได้กี่ปี มีขั้นตอนการเก็บไข่อย่างไร ?

การฝากไข่ช่วยรักษาภาวะเจริญพันธุ์ผู้หญิงเป็นมะเร็งแต่อยากมีลูก

สำหรับคู่แต่งงานที่วางแผนอยากมีบุตร แต่อาจยังไม่พร้อมในตอนนี้ เพราะยังมีหน้าที่การงานที่ต้องแบกรับ หรือต้องการสร้างความมั่นคงในทุกด้านก่อนการมีลูก สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ ด้วยการฝากไข่ได้ เนื่องจากไข่ของผู้หญิงมักจะเสื่อมสภาพเมื่ออายุมากขึ้น การฝากไข่ไว้ก่อนจึงช่วยลดความผิดปกติของทารกที่จะเกิดมาในอนาคต และยังช่วยเพิ่มโอกาสที่จะได้ทารกที่แข็งแรงและสมบูรณ์ด้วย 

 

การฝากไข่คืออะไร ?

การฝากไข่ หรือ Egg Freezing เป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่ช่วยรักษาคุณภาพและปริมาณของเซลล์ไข่ในผู้หญิง โดยการนำไข่ที่ได้จากรังไข่มาแช่แข็งเก็บไว้ เพื่อนำมาใช้ในการปฏิสนธิในภายหลัง และนำตัวอ่อนมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ จากนั้นจึงค่อยนำกลับไปฝังในโพรงมดลูก เมื่อฝ่ายหญิงพร้อมที่จะตั้งครรภ์ 

 

เหตุผลที่ควรฝากไข่คืออะไร เหมาะกับใคร ?

เมื่ออายุมากขึ้น หรืออยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป เซลล์ไข่ของผู้หญิงจะมีคุณภาพน้อยลงและมีปริมาณลดลงตามธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้มีบุตรได้ยากขึ้น อีกทั้งไข่ที่คุณภาพไม่ดี มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของทารก รวมไปถึงเกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ได้อีกด้วย 

สำหรับผู้หญิงที่วางแผนอยากมีลูกในอนาคต ควรทำการฝากไข่ตั้งแต่อายุ 25-35 ปี เพราะเป็นช่วงอายุที่เซลล์ไข่มีความสมบูรณ์แข็งแรง ลดความเสี่ยงที่ทารกจะเกิดความผิดปกติ ซึ่งนอกจากปัจจัยด้านอายุที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว การฝากไข่ยังเหมาะกับผู้หญิงที่มีปัญหาในเรื่องเหล่านี้

  • ผู้ที่ต้องการชะลอการมีบุตร เนื่องจากต้องการเรียนต่อ หรือสร้างความก้าวหน้าในอาชีพก่อน
  • ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับการรักษา ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อภาวะการเจริญพันธุ์ได้ 
  • ผู้ที่ยังไม่พร้อมมีคู่ครอง แต่ต้องการเก็บไข่ไว้ใช้ในอนาคต
  • ผู้ที่มีปัญหาทางพันธุกรรม ต้องการเก็บไข่ไว้ตรวจคัดกรองก่อนใช้
  • ผู้ที่ต้องการความยืดหยุ่นในการวางแผนครอบครัว และต้องการมีลูกด้วยการทำ ICSI ในอนาคต

 

การเตรียมความพร้อมก่อนการฝากไข่

สำหรับการเตรียมความพร้อมของผู้หญิงที่ต้องการฝากไข่ มีดังต่อไปนี้

  1. ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ควรตรวจสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการเก็บไข่ทั้งหมด รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ความสำเร็จของการตั้งครรภ์ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
  2. เตรียมตัวทางด้านจิตใจ ควรทำความเข้าใจถึงกระบวนการฝากไข่อย่างละเอียด เพื่อลดความกังวลและความเครียดที่อาจเกิดขึ้น 
  3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารที่มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุครบถ้วน เพื่อบำรุงร่างกายและเพิ่มคุณภาพของไข่ โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง เช่น ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ และไม่ควรรับประทานอาหารหลัง 6 โมงเย็น
  4. พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูและทำงานได้ดี อีกทั้งยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดได้
  5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้
  6. งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ควรใช้สารเสพติดทุกชนิด

 

แนะนำขั้นตอนในการฝากไข่

1. การตรวจเลือดและฮอร์โมนต่าง ๆ

ก่อนเริ่มกระบวนการเก็บไข่ แพทย์จะทำการตรวจเลือดและตรวจฮอร์โมนต่าง ๆ เพื่อประเมินสุขภาพโดยรวม รวมถึงตรวจสอบระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรังไข่ แล้วจึงนำผลที่ได้ไปใช้วางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

2. การกระตุ้นรังไข่

หลังจากประเมินสุขภาพเบื้องต้น แพทย์จะเริ่มกระบวนการกระตุ้นรังไข่ โดยใช้ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนังเป็นประจำทุกวัน รวมระยะเวลาประมาณ 8-14 วัน โดยยาจะไปกระตุ้นฮอร์โมนเพื่อให้รังไข่ผลิตไข่ได้หลายใบในรอบเดียว แทนที่จะเป็นหนึ่งใบตามธรรมชาติ 

3. ติดตามขนาดไข่

หลังจากการกระตุ้นไข่ แพทย์จะติดตามการเจริญเติบโตของไข่อย่างใกล้ชิด ด้วยวิธีการอัลตราซาวนด์ช่องท้องและการตรวจเลือดเป็นระยะ เพื่อประเมินขนาดและจำนวนของไข่ที่พร้อมสำหรับการเก็บไข่

4. ฉีดยากระตุ้นไข่ให้ตก

เมื่อไข่เจริญเติบโตเต็มที่ แพทย์จะฉีดยากระตุ้น เพื่อให้ไข่ตกพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยให้การเก็บไข่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

5. การเก็บไข่

หลังจากฉีดยากระตุ้นไข่ให้ตกประมาณ 34-36 ชั่วโมง แพทย์จะทำการเก็บไข่ โดยคนไข้ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ควรงดน้ำ งดอาหาร ก่อนการเก็บไข่อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
  • หลังจากการเก็บไข่ควรพักฟื้นอยู่ในห้องพักฟื้นประมาณ 1-2 ชั่วโมง

ในส่วนขั้นตอนการเก็บไข่ มีดังต่อไปนี้

  • แพทย์จะให้ยาสลบกับฝ่ายหญิง เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานาน และเป็นหัตถการขนาดเล็กที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการรักษา
  • แพทย์จะใช้การอัลตราซาวนด์เพื่อหาตำแหน่งไข่ให้ชัดเจน 
  • จากนั้นจะนำเข็มสำหรับเก็บไข่ดูดเซลล์ไข่เพศหญิงออกมา

6. แช่แข็งไข่

หลังจากเก็บไข่ได้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญจะทำการประเมินคุณภาพของไข่ และเตรียมไข่สำหรับการแช่แข็ง โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า Vitrification ซึ่งเป็นการแช่แข็งอย่างรวดเร็วที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส โดยไข่ที่แช่แข็งจะสามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลาหลายปี

 

ข้อดี-ข้อจำกัดของการฝากไข่

ข้อดี

  • ช่วยรักษาคุณภาพและปริมาณของไข่ในช่วงที่ร่างกายยังแข็งแรงสมบูรณ์
  • ช่วยในการวางแผนครอบครัว เพิ่มโอกาสในการมีบุตรเมื่อพร้อม
  • ช่วยป้องกันผลกระทบจากการรักษาโรค ที่จะส่งผลให้ไข่เสื่อมคุณภาพได้

ข้อจำกัด

  • มีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อน และอาจได้รับผลกระทบจากการกระตุ้นไข่
  • มีอัตราความสำเร็จที่แตกต่างกันไปจากหลากหลายปัจจัย เช่น อายุ สุขภาพร่างกาย คุณภาพของไข่ ความเชี่ยวชาญในกระบวนการปฏิสนธิ

 

ขั้นตอนปฏิบัติตัวหลังการฝากไข่

  • หลังจากฟื้นขึ้นมาจากการให้ยาสลบเพื่อเก็บไข่ ผู้เข้ารับการฝากไข่ควรนอนพักประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยกลับไปพักผ่อนต่อที่บ้าน
  • หากปวดหัว สามารถรับประทานยาแก้ปวดตามคำแนะนำของแพทย์ได้
  • ควรรับประทานยา หรือเหน็บยาตามที่แพทย์สั่ง
  • หากพบอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง ปวดท้องอย่างรุนแรง มีเลือดออกจากทางช่องคลอดผิดปกติ ปัสสาวะลำบาก ควรรีบเข้าไปพบแพทย์ทันที
  • ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ ออกกำลังกาย และยกของหนัก อย่างน้อย 1 สัปดาห์

 

การฝากไข่มีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์อย่างไร ?

โอกาสในการตั้งครรภ์จากไข่ที่ฝากไว้ จะแตกต่างกันไปตามคุณภาพของไข่ จำนวนของไข่ รวมไปถึงอายุของผู้ฝาก ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

  • อายุต่ำกว่า 35 ปี มีอัตราความสำเร็จสูงสุด ประมาณ 60-90% 
  • อายุ 35-37 ปี มีอัตราความสำเร็จสูงสุด ประมาณ 50-75%
  • อายุ 38-40 ปี มีอัตราความสำเร็จสูงสุด ประมาณ 30-50%
  • อายุมากกว่า 40 ปี มีอัตราความสำเร็จสูงสุด ประมาณ 20-30%

 

การฝากไข่ เก็บได้กี่ปี ?

การฝากไข่ เป็นกระบวนการเก็บไข่ไปแช่แข็งไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งก็คือ -196 องศาเซลเซียส เซลล์ไข่จะไม่เสื่อมสภาพ ดังนั้นจึงสามารถเก็บรักษาได้นานเท่าที่ต้องการ แต่โดยทั่วไปแล้ว มักจะเก็บไข่ในระยะเวลาประมาณ 10 ปี เพื่อให้ไข่มีคุณภาพดี และเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการปฏิสนธิมากที่สุด

 

ตอบข้อสงสัย การเก็บไข่เจ็บไหม?

จากขั้นตอนในการเก็บไข่ที่เรากล่าวไปข้างต้น อาจทำให้หลายคนรู้สึกกลัวว่าขั้นตอนเก็บไข่เหล่านี้จะเจ็บไหม บอกเลยว่าไม่ต้องกังวล เพราะระหว่างที่แพทย์ทำการเก็บไข่จะมีการให้ยาสลบก่อน คุณจึงไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด แต่หลังจากกระบวนการเก็บไข่เสร็จ อาจรู้สึกปวดหน่วงบริเวณท้องน้อยหรือแน่นท้องเล็กน้อย ซึ่งสามารถทานยาตามที่แพทย์แนะนำได้

 

ควรเก็บไข่ตอนอายุเท่าไหร่ดี?

สำหรับผู้ที่วางแผนจะมีลูกในอนาคตและสนใจอยากเก็บไข่เอาไว้ แนะนำว่าควรเก็บไข่ช่วงอายุ 25-35 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยเจริญพันธุ์ ร่างกายผลิตไข่ได้จำนวนมากและมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด และหลังจากช่วงอายุนี้ ไข่ก็จะเริ่มเสื่อมคุณภาพและมีจำนวนลดลง ทำให้อัตราประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ลดลงตามไปด้วย

 

การฝากไข่ช่วยให้ตั้งครรภ์ได้อย่างไร ?

การฝากไข่จะช่วยให้มีไข่ที่มีคุณภาพดี สำหรับการนำไปใช้กับกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว IVF และ ICSI เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ต่อไป

 

สำหรับคู่แต่งงานที่สนใจอยากจะเข้าโปรแกรมฝากไข่ แต่ไม่รู้ว่าควรเลือกที่ไหนดี ที่ VFC Center ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก มีแพ็กเกจแช่แข็งเซลล์ไข่ ราคาเริ่มต้นที่หลักหมื่น เพื่อการเตรียมความพร้อมสำหรับการมีบุตรในช่วงเวลาที่เหมาะสมมากที่สุด

สนใจสามารถนัดหมายเพื่อปรึกษากับแพทย์ หรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรแกรมและแพ็กเกจที่สนใจ ติดต่อได้เลยที่ เบอร์โทรศัพท์ 082-903-2035